วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

จับเรื่องเล่าเอามาเรียง...จากเชียงตุง (๑)

หอหลวงเจ้าฟ้าเชียงตุง "ครั้งบ้านเมืองยังดี" (ฉายเมื่อปี ค.ศ.1955)

ระหว่างวันที่ 23 – 25 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เดินทาง ไปทัศนศึกษา (ว่ากันตามภาษาเราๆ ก็คือไปเที่ยวนั่นเอง) ที่เมืองเชียงตุง รัฐฉานตะวันออก ของสหภาพเมียนมาร์ ก่อนอื่นขอกราบงามๆ ขอบพระคุณสปอนเซอร์เป็นอย่างสูงที่ทำให้ชาวคณะเราได้มีโอกาสอันดีนี้
.
รถออกจากเชียงรายราวเจ็ดโมงครึ่ง แวะรับกันมาเรื่อยๆ กระทั่งถึงอำเภอแม่สายราวแปดโมงครึ่ง กินมื้อเช้ากันท้องกิ่ว จนได้ฤกษ์ (สะดวก) ออกเดินทาง ซึ่งเราต้องแวะทำเรื่องผ่านแดนให้เรียบร้อย ได้ทราบมาว่า ระวางนี้ พวกเราจะต้องยอมให้เจ้าหน้าที่ (ทางนั้น) เก็บบัตรประจำตัวประชาชนไว้ตลอดการเดินทาง สิ่งที่เราได้กลับมาคือใบผ่านแดน จำนวนเท่ากับบัตรประชาชนที่พวกเรายื่นให้เจ้าหน้าที่ไป ซึ่งผู้นำทางของเราจะเป็นผู้ถือเอกสารทั้งนั้น เพื่อดำเนินการทางด้านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง

. ผู้นำทางของเรานั้นคือหนุ่มใหญ่เสื้อสีฟ้าในรูป เป็นลูกหลานชาวเชียงตุงแท้ (...ก็เขาว่าอย่างนั้น) อารมณ์ขันดีทีเดียว เขาชื่อว่าพี่หลุยครับ อายุราวกลางคน บ้านอยู่แถวๆ ท่าขี้เหล็ก เพราะใกล้ออฟฟิศการท่องเที่ยวของเมียนมาร์ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของเขา (...ต่อไปจะเรียกว่าพม่าแล้ว เพราะเคยปาก) จะเป็นผู้รับผิดชอบการกินการอยู่ของเราตลอดการเดินทางในเชียงตุง
.
พี่หลุยแจ้งเราว่า จะต้องเดินทางจากด่านแม่สายไปอีกราวสามชั่วโมง ถ้าไม่มีปัญหาอะไร เราคงถึงเชียงตุงในราวเที่ยงวัน และจะแวะกินมื้อเที่ยงกันก่อน ค่อยเข้าที่พัก ซึ่งเป็นโรงแรมรัฐบาลที่สร้างบนรากฐานของหอหลวงเจ้าฟ้าเชียงตุงเดิม ทำให้ชาวคณะเราบางท่านที่ออกจะขวัญอ่อนเริ่มแซวกันเองบ้างแล้วเกี่ยวกับคืนแรกในเชียงตุง...
.
ก่อนออกจากด่าน ใครสักคนได้เตือนให้สาวๆ ชาวคณะเราหาหมวกติดตัวไว้เพื่อสะดวกต่อการบังแดดบังฝน เพราะเมื่อถึงที่นั่น การหุบร่มกางร่มบ่อยๆ ออกจะเป็นเรื่องวุ่นวาย ประเดี๋ยวฝนตก ประเดี๋ยวฝนหยุด ประเดี๋ยวแดดจ้า ประเดี๋ยวฟ้าบด สวมหมวกเสียก็สิ้นเรื่อง สาวๆ ก็เลยกรูกันลงไปหาซื้อหมวกกันแล้วกลับมาขึ้นรถ ขณะที่นั่งรถผ่านด่านนั้น เราทุกคนต้องเปิดกระจกให้เจ้าหน้าที่ได้เห็นผู้โดยสาร ว่ามีใครอยู่บ้าง เสียงของเราเริ่มเงียบลงตามลำดับ เมื่อชีวิตของเราไม่ได้เป็นของเราโดยแท้ ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การกระทำของเรานั้นย่อมอยู่ใต้การกำกับ (...แม้กระทั่ง “ใต้บงการ”) ของรัฐ และอื่นๆ ทั้งสิ้น การนั่งรถเพื่อผ่านด่านก็นับว่าอยู่ในเกณฑ์นี้ด้วย

.
อาจจะฟังดูเกินจริงหากจะบอกว่า เวลานั่งรถผ่านด่านนั้นมันช่างยาวนานและน่าตื่นเต้นราวกับว่าเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ ทั้งๆที่ เมื่อช่วงมิลเลเนียมที่ผ่านมานั้น ผมก็นอนซุกผ้าห่มอยู่ที่บ้านดูโทรทัศน์ไปอย่างเรื่อยๆ เฉื่อยๆ หรือด่านที่เรากำลังผ่านนี้เอง ผมก็เดินผ่านมาเป็นสิบครั้งแล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกแบบนี้...เห็นจะเป็นเพราะคำว่า “เชียงตุง” แน่แท้

.
ไม่ได้คิดว่าจะพูดให้ดูเป็นนิยาย หรืออะไรเลย แต่ผมอดประหลาดใจกับความรู้สึกแปลกใหม่อย่างนั้นไม่ใคร่ได้ ที่ว่า “เห็นจะเป็นเพราะคำว่าเชียงตุง” นั้น มาได้คำตอบเอาทีหลังว่า เราได้ยินได้ฟังเรื่องเมืองนี้มาเยอะ แล้วก็คิดหาโอกาสที่จะได้ไปเยี่ยมไปเยือนสักครั้ง พอจะได้ไปถึงเข้าจริงๆ มันก็ตื่นเต้นเป็นธรรมดา

.
เรื่องราวของเชียงตุงที่เคยผ่านหูผ่านตานั้น มีทั้งเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ ตำนาน นิยาย สารคดี ละคร ฯลฯ ทำเอาเราคิดถึงเชียงตุงในหลากหลายรูปแบบ เรื่องหนึ่งที่ติดใจมากเป็นพิเศษก็คือเรื่องของปู่ ซึ่งเป็นเรื่องสั้นๆ ที่ท่านเคยเล่าไว้เมื่อนานมาแล้วว่า เมื่อครั้งจอมพลผิน ชุณหะวัน นำกองกำลังทหารไทยขึ้นไปเชียงตุงนั้น ปู่ก็เป็นส่วนเล็กๆ ในกองทัพนั้นด้วย ท่านยังเล่าถึงความประทับใจให้ฟังว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะที่อยู่ที่นั่น ทหารไทยได้พบกับเจ้าพรหมลือ เจ้าฟ้าเชียงตุงในยุคปลายองค์หนึ่ง
[1] ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับทางการไทย ปู่ยังจำได้ว่าเจ้าพรหมลือนั้นไม่ถือองค์เลย ทั้งยังทรงต้อนรับทุกคนด้วยอัธยาศัยใจคออันดีแม้ว่าท่านจะทรงเป็นเจ้านายใหญ่ยศ ปู่จึงประทับใจในจรรยาของท่านเป็นพิเศษ การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นรายการ หลานตามรอยปู่ในเชียงตุง ซึ่งก็บังเอิญว่าในชาวคณะเรานี้มีคุณพี่ท่านหนึ่งซึ่งมีคุณพ่อเป็นทหารผ่านศึกมาในกองกำลังเดียวกันกับปู่ด้วย แต่ก็ไม่ได้ถามไถ่อะไรกันมากนัก เนื่องจากผมมีข้อมูลไม่มากนัก เพราะได้ยินได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้เมื่อนานมาแล้ว และไม่สามารถกลับไปถามไถ่หรือเล่าอะไรให้ปู่ฟังได้อีก ค่าที่ปู่ของผมท่านไม่อยู่ให้ถามหรือพูดคุยกันเสียแล้ว...

...................................................
.
[1] เจ้าฟ้าพรหมลือนั้นตามประวัติว่าเป็นต้นสกุล ณ เชียงตุง สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองสาม (ตรงกับสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี) ซึ่งเป็นต้นวงศ์ แต่ว่าตามพงศาวดารฝ่ายเชียงตุงนั้นเขาก็ว่าสืบเชื้อมาจากพรญามังราย เจ้าเมืองสามมีราชบุตรชื่อ เจ้ากองไทย สารัมพยะ เป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงสืบมา เจ้าฟ้าองค์ต่อมาคือเจ้าดวงแสง (หรือเจ้ามหาขนาน)-เจ้ามหาพรหม และ เจ้าแสงตามลำดับ จนเมื่อประมาณรัชกาลที่ 5 ของเรานี้ เจ้าโชติกองไทขึ้นเป็นเจ้าฟ้า ต่อด้วยเจ้ามหาพยัคฆโชติ เมื่อสิ้นสมัยเจ้ามหาพยัคฆโชติแล้ว เจ้าก้อนแก้วอินแถลงราชบุตร เจ้าโชติกองไท ก็ได้เป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงต่อมา (เหตุการณ์ช่วงนี้ตรงกับช่วง รัชกาลที่5 ถึงรัชกาลที่ 7) มีพระมเหสี 6 องค์ และมีราชบุตร-ราชธิดารวมกัน ดังนี้

1. เจ้าแม่ปทุมา ราชธิดาเจ้าเมืองสิงห์ เป็นมหาเทวี(มเหสีเอก) มีราชธิดา 1 องค์ คือเจ้าหญิงทิพย์เกษร และราชบุตร 1 องค์ คือเจ้าพรหมลือ (ท่านผู้นี้คือต้นสกุล ณ เชียงตุง)
2.เจ้าแม่จามฟอง สามัญชนมีราชบุตร-ราชธิดารวม 6 องค์ คือเจ้ากองไท (ได้เป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ต่อมา); เจ้าอินทรา (ได้เป็นบุตรบุญธรรมเจ้าฟ้าเมืองสีป้อ); เจ้าปราบเมือง; เจ้าขุนศึก (องค์นี้ไม่แน่ใจว่าคือต้นสกุล "ขุนศึกเม็งราย" หรือเปล่า?); เจ้าหญิงบัวสวรรค์ และเจ้าหญิงฟองแก้ว
3. เจ้าแม่บัวทิพย์หลวง มี 5 องค์ ได้แก่ เจ้าหญิงแว่นแก้ว (เป็นมหาเทวีเจ้าฟ้าลอกจอก); เจ้าหญิงสุคันธา (สมรสกับเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่บุตรพ่อเจ้าแก้วนวรัฐ); เจ้าหญิงแว่นทิพย์(เป็นมหาเทวีเจ้าฟ้าแสนหวี แต่ภายหลังหย่าร้าง); เจ้าสิงห์ไชย และ เจ้าแก้วมาเมือง
4. เจ้าแม่นางแดงหลวง มี 2 องค์ ได้แก่ เจ้าสายเมือง และเจ้าหญิงจันทร์ฟอง (สมรสกับข้าราชการป่าไม้ชาวไทย)
5. เจ้าแม่บุญยวง มี 2 องค์ ได้แก่ เจ้าหญิงฟองนวล และเจ้าบุญวาทย์วงศา (คนละองค์กับพ่อเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตเมืองลำปาง - -ท่านผู้นี้มีบทบาทในการต้อนรับกองทัพไทยที่บุกเข้าเชียงตุงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพพายัพของไทย ซึ่งนำโดยหลวงเสรีเริงฤทธิ์(พลเอกจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ได้ใช้คุ้มของท่านผู้นี้เป็นกองบัญชาการ)
6.เจ้าแม่บัวทิพย์น้อย ได้แก่ เจ้าหญิงองค์หนึ่ง และเจ้าชายชื่อเจ้ายอดเมือง


เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง (กลาง) กับโอรส มีเจ้าฟ้ากองไต (ที่ 2 จากซ้าย แถวหลังสุด) และเจ้าฟ้าพรหมลือ (ที่ 4 จากซ้าย แถวหลังสุด) ร่วมฉายพร้อมกับโอรสองค์อื่นๆ

เจ้าฟ้าก้อนแก้วนั้นได้ส่งเจ้าพรหมลือ และเจ้ากองไท ไปศึกษาต่อในยุโรป แต่ทั้งสองไม่ทันเรียนจบก็ถูกเรียกตัวกลับเชียงตุง ทางเจ้าพรหมลือนั้นยอมกลับแต่โดยดี แต่เจ้ากองไทนั้นได้สมัครเป็นนายทหารในกองทัพอังกฤษแล้ว โดยส่งจดหมายชี้แจงต่อเจ้าพ่อว่า ตนเองไม่มีหวังที่จะก้าวหน้าในเชียงตุง เพราะไม่ได้เป็นราชบุตรเกิดแต่มหาเทวี ไม่มีสิทธิ์ได้เป็นเจ้าฟ้าต่อจากเจ้าพ่อ จึงขอแสวงหาความก้าวหน้าในกองทัพอังกฤษต่อไป เจ้าฟ้าก้อนแก้วจึงขอให้กลับมาก่อน หลังจากนั้นได้มีการตั้งตำแหน่งเจ้าในทางราชการของเชียงตุง ซึ่งเจ้าชั้นสูงของเชียงตุงนั้นมี 5 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าฟ้า(เจ้าผู้ครองนคร); เจ้าแกมเมือง(อุปราชรัชทายาท); เจ้าเมืองเหล็ก; เจ้าเมืองขาก และเจ้าเมืองขอน ในการนี้เจ้าพรหมลือได้เป็นเจ้าเมืองเหล็ก ขณะที่เจ้ากองไทได้เป็นเจ้าแกมเมือง หรือเจ้าแสนเมือง เพราะตามศักดินาได้กินนาแสน โดยการตั้งตำแหน่งเจ้าครั้งนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมเจ้าพรหมลือไม่ได้เป็นรัชทายาท แต่การสืบราชสมบัติเมืองเชียงตุงนี้ไม่มีเกณฑ์แน่นอน จึงอนุมานเอาว่าคงเป็นเพราะท่านคงเห็นว่าเจ้ากองไทมีศักดิ์เป็นพี่ของเจ้าพรหมลือ (แต่จริงๆแล้วเกิดก่อนกันไม่กี่วันเท่านั้น) จึงตั้งเป็นรัชทายาท ทางเจ้าพรหมลือก็หันไปทำธุรกิจหลายอย่างจนร่ำรวยกว่าบรรดาเจ้านายด้วยกัน และต่อมาได้สมรสกับเจ้าหญิงทิพวรรณ ณ ลำปาง นัดดาเจ้านครลำปาง

ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้าก้อนแก้วฯสิ้นพระชนม์ เจ้ากองไทจึงได้เป็นเจ้าฟ้าแทน แต่เป็นได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์เมื่อกลับจากงานเทศกาลวันออกพรรษา งานนี้สามารถจับตัวฆาตกรได้ และในเบื้องต้นได้ซัดทอดคนสนิทเจ้าพรมลือจนมีเสียงร่ำลือว่าเจ้าพรหมลือมีส่วนในการจ้างวานผู้อื่นลอบปลงพระชนม์เจ้าฟ้ากองไท เพราะต้องการแก้แค้นที่ถูกปล้นราชสมบัติไป ท่านผู้นี้จึงต้องจ้างวานทนายความจากพม่ามาเพื่อแก้ต่างในคดีนี้จนเสียเงินว่าจ้างเป็นจำนวนมาก แต่ก็พ้นข้อกล่าวหามาได้ และชาวเชียงตุงส่วนใหญ่ก็ไม่ปักใจเชื่อว่าเจ้าพรหมลือจะมีส่วนในคดีนี้ เพราะเห็นว่าทั้งสองนั้นรักใคร่สนิทสนมกันมาก ขณะที่ข้าหลวงอังกฤษยังคงเชื่อมั่นว่าเจ้าพรหมลือต้องมีส่วนในกรณีนี้ (สนใจค้นคว้าต่อในเรื่อง "The Lords of Sunset" มีรายละเอียดเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมเจ้าฟ้าในมุมมองของชาวอังกฤษ) ในหนังสือที่เกี่ยวกับกองทัพไทยในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพานั้นกล่าวถึงเรื่องเจ้าพรหมลือว่าเมื่อกองทัพพายัพของไทยบุกเข้าเชียงตุงได้ ตามนโยบายสหรัฐไทยเดิม ก็มีการแต่งตั้งจากทางกรุงเทพฯให้เจ้าพรหมลือเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุง และให้เจ้าฟ้าพรหมลือและเจ้าบุญวาทย์วงศาเป็นที่ปรึกษาของข้าหลวงทหารฝ่ายไทย ทางอังกฤษก็เห็นว่าเจ้าพรหมลือมีใจฝักใฝ่ฝ่ายไทย จึงยิ่งทวีความไม่ชอบเข้าไปอีก (อาจมีชนวนมานานแล้ว ทั้งผลประโยชน์ในการค้า ซึ่งมีธุรกิจค้าฝิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง การสมรสกับเจ้าหญิงชาวไทย กรณีฆาตกรรมเจ้าฟ้ากองไท และกรณีสุดท้ายที่เข้ากับฝ่ายไทย) ต่อมาเมื่อกองทัพไทยถอยออกมาจากเชียงตุงแล้วเจ้าพรหมลือและครอบครัวจึงได้อพยพเข้ามาเมืองไทย ได้รับการอำนวยความสะดวกจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของไทยจนสนิทสนมชอบพอกัน ก็คือ ครอบครัวของจอมพลผิน ชุนหะวัณ และเมื่อมาอยู่ที่เชียงใหม่แล้วก็ ได้ใช้นามสกุลว่า "ณ เชียงตุง" สืบมา
ข้อมูลจาก: http://www.lannaworld.com/cgi/lannaboard/reply_topic.php?id=15149

1 ความคิดเห็น:

Master กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะอาจารย์

ตอนนี้หนูได้ลองทำตามคำแนะนำของอาจารย์โดยการ

วิเคราะห์บนจุดยืนของตัวเอง และก็รู้แล้วว่ามันยากมากๆ

ไม่เหมือนเรียงความทั่วไป

เพราะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจมากๆ

หนูส่งเมลเกี่ยวกับคำปรึกษาให้อาจารย์แล้วค่ะ

และหนูอยากทำให้ได้ผลดีๆ

เพราะจุดนี้ต่างกับเรียงความลิบลับเลยค่ะ