วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551

จับเรื่องเล่าเอามาเรียง...จากเชียงตุง (๓)


...จากจุดนี้ เหลืออีกประมาณ 30 กิโลเมตร จะถึงตัวเมืองเชียงตุง...
.
รถตู้ของชาวคณะเรา (รวมสองคัน) แล่นไปบนถนนเล็กๆ ความยาวตลอดสายจนถึงเชียงตุงรวม 165 กิโลเมตร ซึ่งมีการพัฒนาขึ้นจากเส้นทางที่คนสมัยก่อนใช้สำหรับเดินทางติดต่อค้าขายระหว่างเมืองต่างๆ ซึ่งการค้าตามเส้นทางนี้มีมูลค่าสูงมากจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “เส้นทางสายทองคำ” ทั้งการค้าต่างหลังม้า หลังลา หลังฬ่อ หรือแม้กระทั่งการค้าทางบกแบบเล็กๆ น้อยๆ ในปัจจุบัน ตามประวัติมีอยู่ว่าถนนสายนี้มีการพัฒนาอย่างสำคัญเมื่อช่วง พ.ศ.2485 เพื่อรองรับการเดินทัพของกองทัพพายัพขึ้นไปยังเชียงตุง และอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2542 เพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจในการค้าทางบกระหว่าง จีน พม่า และไทย
.

...คนที่นี่ทำนาหน้าบ้านได้เลย...

ถนนสายนี้ตัดผ่านหมู่บ้านและชุมชนน้อยใหญ่รายทาง สลับกับทุ่งนาและป่าเขา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามชุมชนเหล่านั้นทั้งคนไต คนลื้อ คนเขิน คนหลอย (คนดอย) คนอาข่า คนปะหล่อง ทั้งคนพม่าต่างก็มักจะหยุดการทำงานแล้วมองขบวนเล็กๆ ของชาวคณะเราเป็นระยะๆ ราวกับว่าการมาของนักทัศนาจรนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่นานทีปีหนจะเวียนวนมาให้เห็นสักครั้งหนึ่ง เนื่องจากการเดินทางในวันหยุดของเราตรงกับวันธรรมดาของที่นั่น เราจึงเห็นทั้งชาวนาชาวไร่ ข้าราชการ ทหาร และหมู่ของนักเรียนที่เดินกลับบ้านเพื่อไปกินมื้อเที่ยงด้วยชุดนักเรียนเสื้อขาวโสร่งหรือซิ่นสีเขียว บางคนก็แอบสวมกางเกงยีนไว้ข้างใน แต่ที่แน่ๆ ผู้คนตามรายทางเหล่านั้น โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ส่วนมากประแป้งทานาคาจนหน้านวล และเคี้ยวหมากจนปากแดง



...รถจ้างเหมาคันหนึ่งที่เราเจอ ณ ด่านแรก หลังจากออกจากท่าขี้เหล็ก...
.
คุณพี่ท่านหนึ่งในคณะของเรากล่าวว่า เขาว่ากันว่า กว่าจะถึงเชียงตุงได้นั้นต้องผ่านด่านน้อยใหญ่รวมแล้ว 11 ด่าน แต่จากข้อมูลในหนังสือ “วิถีไทเขิน เชียงตุง” บอกกับเราว่า ด่านที่รถทุกคันต้องแวะมีทั้งสิ้น 8 ด่าน (ซึ่งเราต้องชำระค่าผ่านทางทุกด่าน) ได้แก่
1. ด่านมะยางโหลง
2. ด่านนักสืบบ้านท่าเดื่อ (ทำนองว่าเป็นสันติบาล แต่พี่หลุยของเราใช้คำเรียกว่า ด่านทหารสายลับ ซึ่งฟังดูน่ารักเกินกว่าที่จะใช้เรียกหน่วยราชการ)
3. ด่านปางค้าน้อย
4. ด่านเมืองพยาก (ตามหนังสือว่ามี 4 ห้อง ต้องจ่ายเงินทุกห้อง)
5. ด่านนักสืบเมืองพยาก
6. ด่านเก็บเงินแบบด่านทางด่วนบ้านเรา
7. ด่านหนองโนน (ใกล้น้ำพุร้อน - - น่าจะเป็นด่านเก็บเงินแบบด่านทางด่วนอีกแห่งหนึ่งที่ใกล้ๆ กันนั้นมีป้ายยินดีต้อนรับสู่เชียงตุง ในหนังสือบอกว่าต้องลงรถแล้วเดินตามรถผ่านด่านไปแล้วค่อยไปขึ้นรถอีกที ซึ่งตลอดเส้นทางนั้น ไม่มีจุดไหนเลยที่เราต้องลงรถแล้วไปขึ้นรถอีกครั้ง)
8. ด่านมาทาท่า ก่อนเข้าเมืองเชียงตุง มีทั้งด่านตรวจคน ตรวจรถ และล้างรถก่อนเข้าเมือง (พี่หลุยให้ข้อมูลแก่ชาวคณะเราว่า รถที่จะเข้าเมืองนั้นจะต้องถูกล้างให้สะอาดก่อน ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับให้กับทางการ)


...บ้านบางหลังระหว่างทาง...

เรามาถึงเชียงตุงแบบสบายๆ ราวเที่ยงครึ่ง ผ่านอาคารสถานที่ราชการจำนวนมาก ราวกับว่าเมืองทั้งเมืองเป็นศูนย์ราชการ พี่หลุยบอกว่า อย่าเที่ยวยกกล้องขึ้นถ่ายรูปสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะที่เมืองพม่านี้ไม่ชอบให้ใครถ่ายรูปสถานที่ราชการ ทหารจับได้แล้วเรื่องยาว การเที่ยวนั้นจะกร่อยเสียเปล่าๆ เลยได้ข้อสรุปของตัวเองว่า เที่ยวในเมืองแบบนี้ ดูได้ทุกอย่าง แต่เก็บได้แต่สิ่งที่เขาอยากให้เก็บเท่านั้น ถ้าอยากเดินทางอย่างมีความสุข...

.

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สงสารรถคันนั้นจัง

แหะๆๆ

enjoy subjiect กล่าวว่า...

อยากไปบ้างค่ะ
สนุกน่าดูเลย
แต่สงสารรถค่ะ