วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วิสาขบูชารำลึก


หลวงพ่อพระพุทธเมตตา ณ มหาโพธิวิหาร พุทธคยา Ch@ros ฉายเมื่อ 31 ธันวาคม 2551

วันวิสาขบูชา หรือ วิศาขบูชา (บาลี: วิสาขปูชา; อังกฤษ: Vesak) เป็น "วันสำคัญทางพุทธศาสนาสากล" ของชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก, "วันหยุดราชการ" ในหลายประเทศ และ "วันสำคัญของโลก" ตามมติเอกฉันท์ของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์นั้นได้เกิดตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขมาส (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง จึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน) โดยในประเทศไทย ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 หลัง ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทอื่นที่ไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติของไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหน (ตามปฏิทินจันทรคติไทย) ก็ตาม และในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกาย ที่นับถือว่าเหตุการณ์ทั้ง 3 นั้น เกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ๆ (ซึ่งจะไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท) ในปีพุทธศักราช 2552 นี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม 2552


พระเจ้าตนหลวงทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยา Ch@ros ฉายเมื่อปี 2551
ธรรมอันควรคำนึงเนื่องในวันวิสาขปุรณมีบูชา

1. สมเด็จพระบรมครู เสด็จมาประสูติพร้อมการอธิษฐานอันยิ่งใหญ่ ว่า


"อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส.อยมนฺติมา ชาติ. นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว."
คำแปล: "เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี ดังนี้"
(สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. อจฺฉริยอพฺภูตธมฺมสุตฺต อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๙-๒๕๑/๓๖๖-๗-๘-๙, ๓๗๑)

ธรรมข้อแรกอันควรคำนึง คือ การตั้งใจไว้โดยชอบ พระมหาสัตว์เจ้าทรงตั้งพระองค์และทรงตั้งพระทัยไว้โดยชอบแล้วนับชาตินับกาลไม่ถ้วน เมื่อประสูติครั้งนี้จึงเป็นการประกาศดำเนินตามปณิธานอันสูงส่งอย่างไม่ลดละจนบรรลุวัตถุประสงค์ในการรื้อขนสรรพสัตว์สู่พระนิพพานอันเกษม
2. สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ได้ตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐในวันนี้

ธรรมข้อสองอันควรคำนึงคือ การสืบสาวหาต้นทางของความทุกข์เพื่อแก้ทุกข์ นอกเหนือจากอริยสัจทั้งสี่ประการที่เราท่องจำกันจนขึ้นใจแล้วยังมีเรื่องของ หลักการเป็นปัจจัยแก่กันตามแนวอิทัปปัจจยตา และปฏิจจสมุปบาท ด้วย รายละเอียดตาม ลิ้งค์


3. สมเด็จพระธรรมสามิศร เสด็จดับขันธปรินิพพานในวันนี้ โดยได้ประทานมรดกอันสำคัญไว้แก่พวกเรา นั่นคือ คำสอนเรื่อง ความไม่ประมาท พึงระลึกคำนึงตาม ดังพระคาถาที่ว่า

"...หนฺท ทานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ..."
แปลว่า: ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า "สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา. พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"
(สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. ๑๐/๑๔๙/๑๑)



พระบรมธาตุเจ้าหริภุญไชย Ch@ros ฉายเมื่อ 2 มกราคม 2551


...นอกเหนือจากการรำลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ในวันวิสาขบูชาหรือแปดเป็งของทางเหนือนั้นยังเป็นวันคล้ายวันเกิดของพระเจ้าตนหลวงทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยา และเป็นวันสรงน้ำพระบรมธาตุเจ้าหริภุญไชยอีกด้วย พุทธศาสนิกชนในสองจังหวัดนี้มักจัดงานใหญ่เป็นประจำทุกปี...

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

credit: http://www.watthummuangna.com/
สามารถติดตามประวัติและคำสอนของท่านได้ครับ


ภาพถ่ายครูบาชัยยะวงศาพัฒนาบนรถเข็น ตั้งอยู่หน้าสรีรธาตุของพระคุณเจ้าฯ ที่คณะศิษย์เก็บรักษาไว้ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม Ch@ros ฉายเมื่อ อาสาฬหปุรณมี พ.ศ.2551

...แล้วยังเป็นวาระที่ทำให้เรารำลึกถึงครูบาอาจารย์ที่สำคัญอีกสององค์ ได้แก่ 105 ปี ชาตกาลแห่งหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ 9 ปี การมรณภาพของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (พระครูพัฒนกิจจานุรักษ์) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จังหวัดลำพูน ซึ่งในหมู่ศิษย์หาของพระคุณท่านนับถือกันว่าเป็นพระโพธิสัตว์ใหญ่ทั้งคู่...





...เชิญทำบุญแล้วระลึกถึงคุณงามความดีทั้งหลายตามอัธยาศัยนะครับ...








1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

วัยรุ่นไทยสนใจศาสนานั้นยังน้อย
ธรรม..ขัดเกลาจิตใจได้