วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552

...จับเรื่องเล่า เอามาเรียง จากเชียงตุง (๕)...

...ถึงวันนี้ก็กว่าปีแล้วที่ผมไม่ได้หยิบเรื่องความทรงจำในระยะทางจากเชียงตุงมาเขียนอีกเลย นับแต่เดือนธันวาคม ปีกลาย เป็นความเฉื่อยชนิดหนึ่งซึ่งไม่น่ารักเอาเสียเลย...

...ระยะหลังนี้ไปรับเขียนให้ blog อื่นก็เหมือนเอาถ่านใหม่มาต่อไฟเก่า เป่าๆ เสียหน่อยก็น่าจะยังใช้การได้ เลยถือโอกาสต่อประเด็นที่ค้างไว้...

...ย้อนหลังให้นิดหน่อยนะครับว่าเราออกจากอำเภอแม่สายในช่วงเช้าราวแปดนาฬิกาที่ละอองฝนยังแผ่วๆ และพื้นถนนก็ยังหมาดๆ ค่าที่ยังไม่พ้นหน้าฝน แต่เมื่อถึงด่านชายแดนนั้นชาวคณะต่างก็เริ่มรู้สึกว่าจากนี้ไปคงจะไม่เจอฝนอีก และสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือแดดแรงๆ ในช่วงกลางวัน แม่หญิงในหมู่หลายท่านต้องรีบลงรถไปช้อปปิ้งหมวกปีกกว้างเป็นรายการแรกที่หน้าด่านก่อนที่จะข้ามไป...


...เมื่อดำเนินพิธีการผ่านแดนเสร็จ เราก็พบว่าพี่หลุยซึ่งเป็นมัคคุเทศก์อิมพอร์ตจากการท่องเที่ยวเมืองพม่ายืนรอเราอยู่พร้อมกับสาวๆชาวท่าขี้เหล็กที่ตั้งแถวรอยื่นดอกกุหลาบให้กับคณะนักท่องเที่ยวที่กำลังผ่านแดนเข้าไปฝั่งตลาดท่าล้อ ซึ่งผมเชื่อโดยสุจริตใจว่า เขาอาจไม่ได้เตรียมไว้ให้คณะของเราเพราะในวันนั้นมีขบวนคาราวานรถขับเคลื่อนสี่ล้อร่วมทางไปกับคณะเราด้วย ชะรอยดอกกุหลาบที่ตะละแม่ทั้งหลายยื่นมาให้เรานี้คงจะเป็นของคณะใหญ่นั้นเป็นมั่นคง เราก็คงต้องรับมาแล้วก็ทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้ไปเสียก็จบ...

.

...นี่น่าจะเป็นคาราวานเจ้าของดอกกุหลาบ...

...ขบวนน้อยๆ ของเราผ่านด่านไปอย่างแช่มช้า ก่อนจะเร่งเครื่องอย่างรวดเร็วหลังผ่านตัวตลาดมาแล้ว เพราะนัดหมายกับร้านอาหารที่เมืองเชียงตุงเอาไว้ แม้ว่ารถจะวิ่งเร็วก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทอดตาทอดใจไปกับทัศนียภาพระหว่างทางนัก ตัวผมเองอยู่ข้างจะโชคดีเพราะไม่ใคร่เมารถ การหาความเพลิดเพลินระหว่างเดินทางจึงทำได้ไม่ลำบากมากนัก...

...ในที่สุดก็มาถึงชานเมืองเชียงตุงจนได้ สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งนอกเหนือไปจากสารพัดด่านที่เจอแล้วก็คือ ด่านล้างรถเพื่อทำให้รถสะอาด (ตามสมควร) ก่อนเข้าเมือง หากคันไหนฝ่านมาแล้วยังเป็นรถบรรทุกฝุ่นอยู่ก็จะมีโทษ และต้องถูกปรับตามระเบียบของทางราชการ...ทั้งๆ ที่ถนนในเมืองก็สภาพไม่ต่างไปจากถนนภายนอกที่ก่อให้เกิดฝุ่นได้พอๆ กัน...


...มัคคุเทศก์อิมพอร์ตเลือกที่จะพาเรามารับประทานอาหารกลางวันก่อนเข้าไปยังที่พัก โดยพาพวกเราเข้าไปที่ร้านอาหารไทย (?) ชื่อร้าน "โลกตา" (Loketha) ซึ่งไม่ทราบว่าจะแปลว่ากระไรได้ มีท่านหนึ่งในหมู่สันนิษฐานว่ามันน่าจะเพี้ยนมาจาก โลกไทย เพราะคนไทยน่าจะมากินบ่อย...แต่ตอนนั้นคิดอะไรไม่ออกกันแล้ว ก็ได้แต่จ้วงกับข้าวกันเต็มเหนี่ยว อิ่มแล้วค่อยว่ากัน...

.
...ไทยมุงกับข้าวกั้นจิ๊น ห่อละ ๕ บาท...

...อาหารการกินในแต่ละมื้อที่ทัวร์จัดให้นั้น เรียกได้ว่าอิ่มหมีพีมัน และอุดมไปด้วยกับข้าวอย่างชาวสยาม/ไทยเมืองใต้ (ไม่ทราบว่าเพื่อเอาใจลูกค้าคนไทยมากไปหรือเปล่า) มีเพียงมื้อเดียวที่เป็นอาหารจีนแบบยูนนานคือหม้อไฟขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก...แต่กระนั้น ความซุกซนของเราๆ ก็ทำให้เที่ยวไปซอกแซกหาอะไรๆ ตามถนนสู่กันกินอยู่ดี เพราะการเดินทางครั้งนี้เรามาเพื่อที่จะมาหาอะไรที่ต่างออกไปจากที่เคยเจอเป็นประจำ อย่างน้อยผมก็มียาแก้ท้องเสียเตรียมไว้ (แต่ไม่ยักได้ใช้สักครั้ง) อาหารข้างถนนมื้อแรกๆ ที่ชวนกันกินก็คือข้าวกั้นจิ๊นที่แม่ค้ายืนขายอยู่หน้าวัดพระเจ้าหลวง/พระมหามุนี (ซึ่งโดยสภาพน่าจะเรียกว่าวิหารมากกว่าวัด เพราะเป็นอาคารหลังเดียวตั้งเป็นวงเวียนอยู่กลางเมือง) รสชาติใช้ได้ เยื้องๆ ไปหน่อยนั้นเป็นข้าวหลาม ขายอยู่ ๒ เจ้า ที่ถูกปากเจ้าหนึ่งแต่อีกเจ้าไม่ถูกปากเพราะคนหนึ่งใส่กะทิ อีกคนไม่ใส่ ดูแล้วใส่ถั่วเหมือนกัน ขายกระบอกละซาวบาท จัดว่าบอกผ่านไปเยอะเหมือนกัน...นอกนั้นไปเป็นร้านชำซึ่งขายขนมและน้ำดื่ม รวมทั้งของใช้กระจุกกระจิกภายในครัวเรือน และร้านขายโรตี+ขนมแขก แต่จำได้ว่าไม่ได้ชิมเพราะเล่นข้าวหลามไปแล้ว...เดี๋ยวจะจุกตายเสียก่อน...



...ข้าวหลามสองเจ้า คนใกล้ไม่ใส่กะทิ ถ้าอยากกินเหมือนกินที่บ้านเรา ต้องเดินต่อไปสักสิบเมตร...


...โรตีรสดีแผ่นใหม่ แผ่นหญ่ายๆ ส่ายข่ายส่ายโนม...นะนายจ๋า...


...คนเชียงตุงมีอะไรๆ กินกันหลายอย่าง แต่ไม่ได้ถูกนำมาสาธิตเป็นสำรับโชว์แบบที่เราเจอในสิบสองปันนา กระทั่งอาหารพม่าเองก็ไม่ถูกนำเสนอในเชิงท่องเที่ยวให้เราเห็น ทั้งๆ ที่การจัดสำรับอาหารในเชิงสาธิตนั้นเป็นทุนอย่างหนึ่งที่สามารถใช้นำเสนอเอกลักษณ์ของเมืองได้ ตอนที่อยู่เชียงรายเคยกินขนมเส้นน้ำคั่ว (เป็นขนมจีน ราดหมูสับผัดกับมะเขือเทศกับเครื่องอีกนิดหน่อย พอกรุ่นๆ หน้าตาเหมือนน้ำพริกอ่อง แต่ไม่ยักเผ็ดแล้วใส่ยอดถั่วลันเตาก่อนราดซุปร้อนจัดๆ) แม่ค้าบอกว่าสูตรจริงๆ มีทีเชียงตุง แต่ถ้าตามหาแถวแม่สายก็คงจะพอมีให้กินอยู่บ้าง...มาเชียงตุงงวดนี้ก็หมายใจว่าจะมาลองกินต้นตำรับ แต่ก็อด เพราะ ไม่รู้จะไปตามกินที่ไหน เนื่องจากไม่มีรายการในทัวร์...ถ้าผู้ประกอบการผ่านมาแล้วเผลออ่านเข้าก็น่าจะลองจัดอะไรๆ ทำนอง exotic food ที่เป็นเมนูสาธิตให้ลูกค้าของท่านบ้าง การเที่ยวนั้นน่าจะมีอรรถรสมากขึ้น มีอยู่ช่วงหนึ่งไปที่วัดสิงห์ขณะที่ธุลูงเจ้าอาวาสกำลังจะฉันจังหัน แล้วท่านปลีกตัวมารับแจก ซึ่งก็คือพวกเราก่อน สำรับของท่านจึงยังดูใหม่ๆ เราก็เลยแย่งกันถ่ายภาพกันใหญ่...


...สำรับจังหันของธุลุง...


...การไปตลาดอาจเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่เราจะได้พบอาหารที่คนที่นั่นเขารับประทานกัน ในเช้าสุดท้ายที่เชียงตุงนั้นเราไปที่กาดหลวงเชียงตุงกันเท่าที่จะเช้าได้ แต่ก็อาจจะดูว่าสายไปสักหน่อยสำหรับการสวมวิญญาณพระยาน้อยชมตลาด เคราะห์ดีที่ตลาดยังไม่วาย เลยยังพอเดินเที่ยวชมอะไรๆ ได้บ้าง ชาวคณะเราบางท่านกินมื้อเช้าของโรงแรมเพียงเล็กน้อย เพื่อที่จะมาทำคะแนนในตลาด ซึ่งก็มีของให้กินเยอะ แต่ก็จะเลือกเฉพาะของที่ทำร้อนๆ ใหม่ๆ ซึ่งก็ไม่พ้นของทอดๆ ที่กินได้หน่อยก็ต้องหยุด เพราะยังต้องนั่งรถกันอีกไกล ยิ่งกินอะไรมันๆ เข้าไปมากจะเมารถง่ายขึ้น ที่ไม่ได้แวะกินคือโรตีโอ่งที่ปากทางเข้าตลาด เพราะเราคิดว่าตลาดมันกว้างแล้วเกรงจะเดินไม่ทั่ว ก็เลยอดๆ ไปก่อน ที่สุดก็เลยอดจริงๆ...




...โรตีโอ่ง...


...ของกินอร่อยๆ สนุกๆ ใช่ว่าจะมีแต่ในเมือง ออกมาทางนอก ที่บ้านปางควายก็มีของกินร้อนๆ อร่อยๆ (คือถูกปากเรา) อยู่เจ้าหนึ่ง เขาเรียกข้าวซอยน้อยหรืออะไรสักอย่างหนึ่งก็จำไม่ใคร่ได้เสียแล้ว แม่ค้าปลูกเพิงริมถนนหน้าบ้าน แล้วตั้งเตานึ่งทำนองข้าวเกรียบปากหม้อบ้านเรา มีพิมพ์แสตนเลสเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗-๘ นิ้ว ตักแป้งข้าวเจ้าลงกลิ้งๆ พอเหลือติดพิมพ์ขึ้นตั้งบนหม้อนึ่ง คะเนพอแป้งสุกก็เอาเครื่องลงซึ่งเท่าที่สังเกตดูก็มีผักเป็นส่วนมาก เอาน้ำตาลลง ตามด้วยพริกป่น ซีอิ๊วดำ แล้วก็เอาไม้งัดแป้งด้านหนึ่งขึ้นม้วนๆ แล้วเทลงจาน ตัดเป็นท่อนพอคำ ก็กินกันอร่อยไม่รู้แล้ว...เลยปางควายมาถึงปางล้อมีของเด็ดของดีอยู่ตรงนั้นอย่างหนึ่งคือไข่เยี่ยวม้า ไข่เยี่ยวม้าทางนี้มีเนื้อไข่ขาวออกสีส้มๆใสๆ ไข่แดงสีเหลืองแก่ๆ หม่นๆ คล้ายไข่แดงของไข่เค็มชนิดดองเกลือบ้านเรา กรุบๆ ทำยำกินกับข้าวต้มร้อนๆ ท่าจะเข้ากันดี...


...ของกินอร่อยๆ ริมทางที่บ้านปางควาย...


...นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...หากมีโอกาสได้ไปอีก คงต้องตกลงเรื่องอาหารกันเสียแต่เนิ่นๆ...


...จบเรื่องกินแล้ว คราวถัดไปจะเป็นเรื่องอะไร โปรดคอยตามพิจารณาดูนะครับ นึกอะไรออกก็จะเขียนให้อ่านกันเร็วๆ นี้ครับ เพราะตอนนี้ต้องออกเรื่องอินเดียกับสิบสองปันนาแล้วครับ ไม่งั้นจะลืมไปเสียก่อน... สวัสดีครับ...
.

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

คนที่มีความสุขที่สุดในโลก

รุ้งเส้นคู่ที่เชียงราย Ch@ros ฉายเมื่อ พ.ศ.2551


พักนี้นึกอะไรไม่ใคร่ออก พอดีได้ Fwd. Mail มาฉบับหนึ่งจากอาจารย์ที่เคารพนับถือกัน ก็เลยเอามาลงไว้ เผื่อใครเข้ามาอ่าน ข้อความมีดังนี้ครับ:



คนที่มีความสุข ที่สุดในโลก



คนที่มีความสุขที่สุดในโลกไม่ใช่คนที่ร่ำรวย คนที่มีความสุขที่สุดในโลกไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จ แต่คนที่มีความสุขที่สุดในโลกคือ คนที่มีความสบายใจเท่านั้นเอง และความหมายของความสบายใจ คือ



หนึ่ง เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น เชื่อว่าคุณมีดี คุณน่าคบหา และคุณทำได้


สอง รู้จักตัวเอง ยอมรับในข้อบกพร่องของตัวเอง และพร้อมจะปรับปรุงเสมอ


สาม ไม่ดื้อดึง ถ้าวันวานคุณเคยทำผิดพลาด คุณก็ยินยอมเปลี่ยนแปลงและรับฟังคนอื่น


สี่ เห็นค่าของตัวเอง คุณไม่คิดว่าตัวเองช่างไร้ค่า คุณจึงมีความสุขในใจเสมอ


ห้า วิ่งหนีความทุกข์ เมื่อรู้ตัวว่าตกลงไปในความทุกข์ คุณก็รีบหาทางหลุดพ้น ไม่จมอยู่กับมัน


หก กล้าหาญเสมอ คุณกล้าเปลี่ยนแปลงและกล้ารับมือกับสิ่งแปลกใหม่หรือปัญหาต่างๆ


เจ็ด มีความฝันใฝ่ เมื่อชีวิตมีจุดหมาย คุณก็จะเดินไปบนถนนชีวิตอย่างมีความหวัง ไม่เลื่อนลอย


แปด มีน้ำใจอาทร คุณพบความสุขในใจเสมอถ้าเป็นผู้ให้แก่ผู้อื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน


เก้า นับถือตัวเอง ไม่ดูถูกตัวเองด้วยการลดคุณค่าและทำในสิ่งที่เสื่อมเสียต่อตัวเอง


สิบ เติมสีสัน สร้างรอยยิ้มให้ชีวิตของคุณและคนรอบข้าง รู้จักหยอกล้อคนอื่น ๆ และตัวเองด้วย


ความสุขนั้นคือพอใจกับวิถีชีวิตของตัวเอง และวางฝันของตัวเองตามกำลังที่ตนทำได้ การได้รับวัตถุและความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทำให้คุณพึงพอใจและยกระดับฐานะของคุณเท่านั้น เป็นการสร้างเสริมความสุขเพียงภายนอก และมันมิได้อยู่กับคุณอย่างมั่นคงถาวรตลอดไป เพราะคนเรานั้นย่อมมีความต้องการเพิ่มขึ้นเสมอไม่มีวันหยุดนิ่ง


ความสุขที่แท้จริงเกิดจากข้างในจิตใจของคนเรา และถ้าจิตใจของคุณไม ่ว่าง เต็มไปด้วยอารมณ์อันตรายต่าง ๆ ความสุขก็จะเกิดขึ้นได้ยากยิ่ง เพราะความสุขนั้นมักเกิดขึ้นท่ามกลางความสงบเสมอ


ชีวิตของคนเรานั้นไม่ยืนยาวนัก คุณสามารถหาความสุขให้ตัวเองได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องมุ่งหวังยามแก่เฒ่า ค่อยอยู่อย่างสงบสุขอย่างที่หลายคนเชื่อกัน เชื่อเถอะ เราจะสามารถมีความสุขที่สุดในโลกได้ ในตอนนี้ ถ้าเราเริ่มจากตัวเราเอง

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

...เปิดเทอมใหม่...ยังไงก็ยังว้าวุ่น...

Ch@ros ฉายเมื่อ เมษายน 2551

...พ.ศ.นี้ ผมก็ยังทำงานเกี่ยวกับการศึกษาของคนที่โตแล้วเหมือนเดิม...

...มีคนหน้าใหม่ผ่านเข้ามาในชีวิตพร้อมกันครั้งละมากๆ เหมือนเดิม...

...ความคาดหวังและความกลัวของคนเหล่านั้น ...นี่ก็เหมือนเดิม...
.
.
.
...แล้วจะมีอะไรใหม่ๆ ไหม? ...

...ดูเหมือนว่าปีนี้ผมจะไม่ค่อยมีอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจมากนัก

...เมื่อตอนที่เริ่มงานนี้ใหม่ๆ ก็กระดี๊กระด๊าดีอยู่

...แต่ยิ่งวัน ความกระดี๊กระด๊านั้นก็เริ่มจืด...เพราะรู้สึกว่าผู้คนที่ผ่านเข้ามานั้น แม้จะเป็นหน้าใหม่ก็จริง แต่ก็มีอะไรๆ คล้ายๆ กันกับพวกที่เคยเดินผ่านเราไปเมื่อปีกลาย เลยไม่ค่อยจะรู้สึกตื่นเต้น เหมือนกับครั้งแรกๆ แต่ก็ไม่ได้เฉยไปเสียทีเดียว บางทีต้องมองแบบระแวดระวังเล็กน้อยถึงปานกลาง...

...ทำนองว่ารอหยั่งเชิงกันก่อน...

...ก็คงต้องรอดูกันไปล่ะครับ...

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วิสาขบูชารำลึก


หลวงพ่อพระพุทธเมตตา ณ มหาโพธิวิหาร พุทธคยา Ch@ros ฉายเมื่อ 31 ธันวาคม 2551

วันวิสาขบูชา หรือ วิศาขบูชา (บาลี: วิสาขปูชา; อังกฤษ: Vesak) เป็น "วันสำคัญทางพุทธศาสนาสากล" ของชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก, "วันหยุดราชการ" ในหลายประเทศ และ "วันสำคัญของโลก" ตามมติเอกฉันท์ของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์นั้นได้เกิดตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขมาส (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง จึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน) โดยในประเทศไทย ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 หลัง ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทอื่นที่ไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติของไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหน (ตามปฏิทินจันทรคติไทย) ก็ตาม และในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกาย ที่นับถือว่าเหตุการณ์ทั้ง 3 นั้น เกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ๆ (ซึ่งจะไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท) ในปีพุทธศักราช 2552 นี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม 2552


พระเจ้าตนหลวงทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยา Ch@ros ฉายเมื่อปี 2551
ธรรมอันควรคำนึงเนื่องในวันวิสาขปุรณมีบูชา

1. สมเด็จพระบรมครู เสด็จมาประสูติพร้อมการอธิษฐานอันยิ่งใหญ่ ว่า


"อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส.อยมนฺติมา ชาติ. นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว."
คำแปล: "เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี ดังนี้"
(สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. อจฺฉริยอพฺภูตธมฺมสุตฺต อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๙-๒๕๑/๓๖๖-๗-๘-๙, ๓๗๑)

ธรรมข้อแรกอันควรคำนึง คือ การตั้งใจไว้โดยชอบ พระมหาสัตว์เจ้าทรงตั้งพระองค์และทรงตั้งพระทัยไว้โดยชอบแล้วนับชาตินับกาลไม่ถ้วน เมื่อประสูติครั้งนี้จึงเป็นการประกาศดำเนินตามปณิธานอันสูงส่งอย่างไม่ลดละจนบรรลุวัตถุประสงค์ในการรื้อขนสรรพสัตว์สู่พระนิพพานอันเกษม
2. สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ได้ตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐในวันนี้

ธรรมข้อสองอันควรคำนึงคือ การสืบสาวหาต้นทางของความทุกข์เพื่อแก้ทุกข์ นอกเหนือจากอริยสัจทั้งสี่ประการที่เราท่องจำกันจนขึ้นใจแล้วยังมีเรื่องของ หลักการเป็นปัจจัยแก่กันตามแนวอิทัปปัจจยตา และปฏิจจสมุปบาท ด้วย รายละเอียดตาม ลิ้งค์


3. สมเด็จพระธรรมสามิศร เสด็จดับขันธปรินิพพานในวันนี้ โดยได้ประทานมรดกอันสำคัญไว้แก่พวกเรา นั่นคือ คำสอนเรื่อง ความไม่ประมาท พึงระลึกคำนึงตาม ดังพระคาถาที่ว่า

"...หนฺท ทานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ..."
แปลว่า: ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า "สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา. พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"
(สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. ๑๐/๑๔๙/๑๑)



พระบรมธาตุเจ้าหริภุญไชย Ch@ros ฉายเมื่อ 2 มกราคม 2551


...นอกเหนือจากการรำลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ในวันวิสาขบูชาหรือแปดเป็งของทางเหนือนั้นยังเป็นวันคล้ายวันเกิดของพระเจ้าตนหลวงทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยา และเป็นวันสรงน้ำพระบรมธาตุเจ้าหริภุญไชยอีกด้วย พุทธศาสนิกชนในสองจังหวัดนี้มักจัดงานใหญ่เป็นประจำทุกปี...

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

credit: http://www.watthummuangna.com/
สามารถติดตามประวัติและคำสอนของท่านได้ครับ


ภาพถ่ายครูบาชัยยะวงศาพัฒนาบนรถเข็น ตั้งอยู่หน้าสรีรธาตุของพระคุณเจ้าฯ ที่คณะศิษย์เก็บรักษาไว้ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม Ch@ros ฉายเมื่อ อาสาฬหปุรณมี พ.ศ.2551

...แล้วยังเป็นวาระที่ทำให้เรารำลึกถึงครูบาอาจารย์ที่สำคัญอีกสององค์ ได้แก่ 105 ปี ชาตกาลแห่งหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ 9 ปี การมรณภาพของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (พระครูพัฒนกิจจานุรักษ์) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จังหวัดลำพูน ซึ่งในหมู่ศิษย์หาของพระคุณท่านนับถือกันว่าเป็นพระโพธิสัตว์ใหญ่ทั้งคู่...





...เชิญทำบุญแล้วระลึกถึงคุณงามความดีทั้งหลายตามอัธยาศัยนะครับ...








วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

หนังสือปีใหม่ จุลลสักกราช ๑๓๗๑ ปีกัดเป้า สำนวนไทขึนเมืองเชียงตุง

หนังสือปีใหม่ไทขึน เมิงเชียงตุง ปี จ.ศ. ๑๓๗๑ ตัว
.
นวังคะปีใหม่นี้ เปนปีกัดเป้า จุฬสักกราชได้ ๑๓๗๑ ตัว เศษ ๔ ชื่อว่าจันทาธิมาศทินาธิกะตกเดิน ๘ เบ่าหน สังขารไปเดิน ๖ แรม ๔ ฅ่ำ เมงวัน ๒ ไทยวันปึกใจ้ เกณฑ์เดิน ๐ เน่า ๒ วัน ทินรวิมี ๓๖๕ พระญาวันมาเดิน ๖ แรม ๗ ฅ่ำ เมงวัน ๕ ไทยวันร้วงเหม้า วันที่ ๑๖เมษายน ๒๐๐๙ อหังคณอัตตา ๕๐๐๗๗๑ ติตถีอัตตา ๒๒ พระพุทธสกราชได้ ๒๕๕๓ วัสสา อนาคตสกราชยังหลอ ๒๔๔๗ วัสสา
.
ปีนี้เข้าวัสสาเดิน ๙ เพง จุฬสกราชปีใหม่ขี้นยามแตรสู่เที่ยงวัน ขุนสังขารขี่งูไปยามกลองงาย มือกวาถือผาลา มือซ้ายทือหอกปลายแหลม ลุกหนพยัพไปสู่หนอาคไนย นางผู้ชื่อมโหสาระ นั่งแงกฅิงรับเอา งูจักมีมาก จักแขงด้วยไฟสักหน่อย สัตว์แลฅนทังหลาย จักร้อนใจด้วยไภยะพยาธิโรคานานาต่างๆ ไภยะจักมีแก่พ่อค้าแลฅนทุกข์ไร้เข็ญใจชาแล
.
จักได้เอาแก้วเจ้า ๓ ประการแลพ่อแม่ครูบาอาจารย์เปนที่จั้งทันพึ่ง จิ่งจักได้อยู่เย็นเปนสุข รอดพ้นไภยะทังหลายไปพายหน้าชาแล
.
ปีนี้ไม้ห้าเปนพระญาแก่ไม้ทังหลาย กวันเข้าพึ่งไม้หมากทัน เข้านาดีด้วยลางแห่ง ฝนตกเบ่าเสมอกัน นาคขึ้นน้ำ ๒ ตัว ฝนตก ๒ ตาง แพะรักสาปี แรดรักสาเดิน นกยูงรักสาป่า คะต่ายรักสาน้ำ ยักข์ใพ้อากาศ จัณฑละใพ้แผ่นดิน
.
ผู้ยิงเปนใหย่แก่ฅนทังหลาย วัวเปนใหย่แก่สัตว์ ๔ ตีน นกไฟเปนใหย่แก่สัตว์ ๒ ตีน ไม้แห้วเปนใหย่แก่ไม้จิง ไม้ซางเปนใหย่แก่ไม้กลวง หย้าแฟดเปนใหย่แก่หย้าทังหลาย รสแผ่นดินเบ่าพอหลาย เข้านาเบ่าพอดี ฝนตกร้อยห่า ฝนห่าใหย่มี ๖๐ ห่า ตกทั่วชุมพูทวีป ลมจักมีมาก ฝนมีหัวปี หล้าปี กลางปีมีน้อย
.
ฅนเกิดมาปีนี้ มีโกธะมานะใหย่ เบ่าสู้ได้เลี้ยง วงสาหลายจิ่งดี มีอายุ ๕๐ ปีเปนฝั่ง เหลอนั้นไปอยู่ด้วยบุญกัมม์แห่งตนชาแล
.
ปีนี้ เข้า งน ฅำ วัว ควาย แพง, แก้ว แสง เหล็ก ชืน เส้อ ผ้า เกอ อ้อย ม้า ปลาเน่า ปานกลาง, ปลาแลพริกถูก
.
คันถึงวันพระญาวันมา หื้อชวนกันทานน้ำทานซายไม้ค้ำแท่น ทานแล้วปราถนาหื้อได้อยู่เย็นเปนสุขต่อรอดปีเดินวันยาม ชุเจ้าชุตนชุผู้ชุฅนแด่เทิ่อ.๚๛
.
สมเด็จอาชญาธรรม
วัดราชฐานหลวงเชียงยืน เวียงเชียงตุง
ปล่านแปลง
.

Credit: http://www.cm77.com/board/frame.php?frameon=yes&referer=http%3A//www.cm77.com/board/ สรียินดีจ้าดนักครับผม

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2552

หนังสือปีใหม่ จุลลสักกราช ๑๓๗๑ ปีกัดเป้า


หนังสือปีใหม่ ปีกัดเป้า
(ปีฉลู เอกศก) จ.ศ. ๑๓๗๑
ปกติมาส อธิกวาร ปกติสุรทิน
.
...มังคลวุฒิสิริศุภมัสตุ จุลศักราชได้ ๑๓๗๐ ตัว ปีชวดฉนำ กัมโพชพิไสย เข้ามาในคิมหันตอุตุ จิตรามาส กาฬปักข์ ปัญจมี ภุมมวารไถง ไทยภาษาว่า ปีเปิดใจ้ เดือน ๗ แรม ๕ ค่ำ พร่ำว่าได้วันอังคาร ไทวันกัดเป้า ตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ยามนั้น ระวิสังขานต์มีตนเรื่อเรืองงามประดุจดังคำสิงคี สถิตอยู่ทิพย์วิมานมีนราศีประเทศ ก็ประดับตนด้วยเครื่องอาภรณ์วิเศษอลังการสีดังแก้วปพาฬผ่องแผ้ว คือว่าสีแดงแสดเลิศแล้ว ประดับตนด้วยรัตนมณีแก้วปพาฬ อันเรืองรุ่ง รัศมีพุ่งงามตา มีหัตถามือซ้ายบนถือลูกประคำผ่องแผ้ว มือซ้ายลุ่มถือกระออมแก้วอันงามโสภา มีมือเบื้องขวาบนนั้นก็มาถือจักร มือขวาลุ่มเอาพาดตักแห่งตนไว้หมั้น ได้กาลยามดี ยามนั้นก็เสด็จยืนก้มหน้าอยู่บนหลังสีหราชา คือพญาราชสีห์ตนองอาจ เสด็จยัวริยาตรจักไปสู่เมษราศี ก็ออกจากทิพย์วิมานคำดีผ่องแผ้วด้วยประตูอันอยู่หนอุตระ คือทิศเหนือแล้ว ยกย่างลีลาด้วยพหุพลนิกายโยธาไปสู่อิสานะทิศา คือตะวันออกเฉียงเหนือดั่งอั้น ยามนั้นเป็นเวลายามตูดรุ่ง เวลา ๐๑ นาฬิกา ๘ นาที ๒๔ วินาที คนทั้งหลายจิ่งเรียกว่าวันสังขานต์ล่อง
.
ยามนั้น ยังมีนางเทวดา ชื่อมัณฑะหมอบตนรับเอา ปีนี้สังขานต์ไปวันอังคาร จักเดือดร้อนแก่ชาวเมือง จักเกิดเปนกลียุค วิวาทบาดหมางผิดเถียงกัน จักร้อนใจแก่เจ้าบ้านเจ้าเมือง พระราชามหากษัตริย์ บ้านเมืองจักแล้ง สรมชาวเจ้าจักเดือดร้อนใจ ข้าวจักมีราคาแพง ของใช้จักขึ้นราคา ของแดงลายและลูกไม้ผลไม้บ่สู้มีราคา จักวิวาทกันด้วยคำบ้านคำเมือง ปีนี้ฝนตกบ่เสมอ หัวปีมีมาก กลางปีบ่มีหลาย หล้าปีก็จักมีอยู่พ่อง ชารสดินบ่ดี สัตว์ ๔ ตีน ๒ ตีนจักมีภัย จักหันแผ่นดินแตกในเมือง เจ้าขุนผู้ใหญ่จักตาย จักมีอุบาทว์ใหญ่ในบ้านเมือง คนเกิดวันอาทิตย์จักมีเคราะห์ใหญ่ คนเกิดวันจันทร์จักมีโชคลาภ



...ในวันสังขานต์ไปนั้น จุ่งหื้อพากันสระเกล้าดำหัวยังแม่น้ำ ทางไคว่ เค้าไม้ใหญ่นอกบ้านชายคา อว่ายหน้าไปสุ่ทิสะหนใต้ แล้วเอาน้ำส้มป่อยดำหัว อาบองค์สรงเกศเกล้าด้วยมนต์วิเศษ สรูปเภทเป็นคาถา ว่า “สัพพะทุกขา สัพพะภะยา สัพพะอันตรายา สัพพะทุนนิมิตตา สัพพะคะหา สัพพะอุปัทวา วินาสันตุฯ”
ปีนี้ศรีอยู่ดัง กาลกิณณีอยู่ปาก จังไรอยู่บ่า เอาส้มป่อยเช็ดคว่างเสีย ปีนี้ผีหัวหลวงเป็นยักษ์อยู่ทิศเหนือ ดำหัวอย่าบิ่นหน้าไปทางทิศนั้น แล้วมานุ่งผ้าใหม่เหน็บดอกไม้นามปี ปีนี้ดอกเก็ดถะหวา เป็นพญาดอก ควรเอามาเหน็บเกศเกล้ามวยผมและเหน็บไว้ประตูบ้าน ประตูเรือน เป็นมังคละ จักอยู่สุขะสวัสสะดีชะแล
.
...ในเดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ พร่ำว่าได้วันพุธ ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน ไทวันกดยี เปนวันปูติ คือวันเน่า ปีนี้เน่าวันเดียว อย่าไปทำมงคลในวันนี้ อย่าไว้วิวาทผิดเถียงเดือดด่า หื้อได้พากันขนทรายเข้าวัด กวาดข่วงไม้สรี พระเจดีย์ วิหาร จักได้พ้นเคราะห์กับตน กับบ้านกับเมือง และพระพุทธศาสนา
ในเดือน ๗ แรม ๗ ค่ำ พร่ำว่าได้วันพฤหัสบดี ตรงกับวันที่ ๑๖ เมษายน ไทวันร้วงเหม้า เป็นวันพญาวัน พระสุริยะอาทิตย์เสด็จทิพย์วิมานในเวลากาลได้ยามรุ่งเช้า เวลา ๐๕ นาฬิกา ๐๖ นาที บ่มีปลาย
ยามนั้นจุลศักราชขึ้นแถม ๑ ตัว เปนจุลศักราช ๑๓๗๑ ตัว ฉลูฉนำ กัมโพชพิสัย ไทยภาษาว่าปีกัดเป้า หื้อได้พากันกระทำบุญหื้อทาน เจดีย์ทราย ช่อ ตุง ไม้ค้ำสรี หื้อพากันทำมังคละกับวัดวาอาราม บ้านช่อง หอเรือน และปูชาสระสรงองค์พุทธรูปเจ้า มหาเจติยะ พระธาตุ พระบฏ พระบาท ไม้สรีมิ่งบ้าน และอารักษ์เจนเมือง มิ่งเมือง อย่าประหมาทด้วยเหตุเคราะห์เมืองจักมี แล้วหื้อพากันดำหัวครูบาสังฆะ พ่อเถ้าแม่อุ้ย และพ่อแม่ เพื่อขอเตชะปารมีไว้กับตนหื้อเปนมงคลตลอดปีอยู่สุขสวัสสดีมีโชคลาภ ถุถั่งหลั่งมา ฮิมาค้าขึ้น อยู่เย็นเป็นสุขตลอด
.
...ปีนี้เศษ ๓ ชื่อ อัชฌุสวัสสะ แพะรักษาปี แร้งรักษาเดือน นกยูงรักษาป่า กระต่ายรักษาน้ำ ภุตตะยักขะเทวบุตรรักษาอากาศ จัณฑาลรักษาแผ่นดิน ผู้หญิงเป็นใหญ่แก่คนทังหลาย นกเขาไฟเป็นใหญ่แก่สัตว์ ๒ ตีน กระต่ายเป็นใหญ่แก่สัตว์ ๔ ตีน ไม้เปาเป็นใหญ่แก่ไม้ทังมวล ผีเสื้ออยู่ไม้ข่อย ไม้เหงเป็นใหญ่แก่ไม้จิง ไม้ซางเป็นใหญ่แก่ไม้กลวง หญ้าแพรดเป็นใหญ่กว่าหญ้าทังมวล ขวัญเข้าอยู่ไม้ซาง รสดินบ่มีหลาย เข้ากล้าถั่วงาบ่ดี เข้าจักลีบ คนเกิดปีนี้มีความโกธะมาก อายุ ๕๐ ปีจักตาย
.
...ปีนี้นาคหื้อน้ำ ๒ ตัว บันดาลหื้อฝนตก ๔๐๐ ห่า ชื่อพุธาธิปติ ตกในมหาสมุทรและเขาสัตตปริภัณฑ์ ๑๙๑ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๓๓ ห่า ตกในมนุสสโลก ๗๖ ห่า
.
...ปีนี้เทวดาวางเครื่องประดับหนอิสาน ปาปะลัคนาอยู่หนอิสาน ปาปะเคราะห์อยู่หนหรดี ทิศะเหล่านี้เป็นอัปปมงคล บ่ดีไปค้าไปศึกทิศนั้น บ่ดีทำมงคลแก่บ้านเมืองในทิศนั้น บ่ดีปกเสาเอกมงคลในทิศนั้น จักเสียสรีเตชะ
.
...อตีตวรพุทธศาสนาคลาล่วงแล้วได้ ๒๕๕๑ พรรษาธิกาปลาย ๑๑ เดือน ๗ วัน นับแต่วันพญาวันคืนหลัง อนาคตะศาสนาอันจักมาภายหน้า ค้างอยู่แถมบ่หน้อย ๒๔๔๘ พรรษาธิกาปลาย ๒๓ วัน เหตุนับแต่วันปากปีไปเอามาบวกกับกันก็เต็มห้าพันพระพรรษาถ้วนบ่มีเศษ เหตุตามฎีกาที่มหาพิลางคสัมมิหรสีเจ้า หากวิสัชนาแต่งแปลงสืบๆ มา ก็ปริปุณณาแล้วแล ๚๛
.
(พระครูอดุลสีลกิตติ์ วัดธาตุคำ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้วิสัชนาปล่านแปลงแต่งแต้มทำนายพยากรณ์ แล)
credit: http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=sasis&date=25-02-2009&group=1&gblog=22 สรียินดีจ้าดนักครับผม

วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

มาฆบูชารำลึก


โอวาทปาฏิโมกข์ [โอ-วา-ทะ-ปา-ติ-โมก]
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)


หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่า วันมาฆบูชา (อรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา), คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้


สพฺพปาปสฺส อกรณํ
กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ
เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร

มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ


แปลว่า:
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตต์ของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต, ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิตต์ ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส