วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

...ความทรงจำในการข้ามปีที่อินเดีย (๒)...

...ควานหารูปในกรุคอมพิวเตอร์เสียนาน ที่สุดก็ได้มาครับพี่น้อง ถ้าหายไปคงแย่ เพราะมันกลับไปฉายได้ยากเต็มที...
.

"ชักนาคดึกดำบรรพ์ " จุดหมายตาและรวมพลที่สำคัญในพื้นที่ขาออก

...ดังได้เกริ่นไว้แล้วว่าหมู่คณะเราได้วางแผนในการเพื่อไปจาริกแสวงบุญไว้นานพอควร ทั้งอ่านหนังสือ เช็คข้อมูลในเว็บไซต์ต่างๆ กระทั่งดูสารคดี ดังนั้นการเดินทางครั้งนี้จึงไม่ต่างอะไรจากการที่เราได้ฟังใครต่อใครเล่าให้ฟัง ทำนองว่า "เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย" ที่ทำให้อยากไปเจอ ไปเห็นโดยเร็ววัน...ดังนั้นในไม่ช้า เพื่อนเดินทางทั้งสองหน่อจึงไม่รีรอที่จะมาปรากฏตัวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในช่วงปลายปีนั้นเพื่อจับเที่ยวบินจากกรุงเทพฯไปยังท่าอากาศยานเมืองคยา ก่อนเดินทาง เราพยายามสำรวจเพื่อนร่วมทางด้วยสายตา พบว่าล้วนแต่เป็นศาสนิกชนที่ต้องการไปแสวงหาแบบที่เราทำเหมือนกันทั้งสิ้น ต่างกันก็เพียงเครื่องแบบ และภาษาเท่านั้น...


...ราว ๔ ชั่วโมงบนเครื่องผ่านไปแบบเรื่อยๆ เอื่อยๆ ที่สุดแล้วเครื่องบินก็ร่อนลงแตะรันเวย์ของท่าอากาศยานที่มีสภาพค่อนข้างจะใหม่โดยสวัสดี ทั้งแขก ไทย จีน เกาหลี ที่โดยสารเครื่องต่างก็เตรียมตัวขนย้ายสัมภาระส่วนตนเพื่อลงจากเครื่องไปทำเรื่องตรวจคนเข้าเมืองภายในสำนักงาน คณะเรายังคงนั่งอยู่กับที่เพื่อรอให้คนที่เขารีบ (ซึ่งก็ไม่ใคร่เข้าใจว่าจะรีบไปไหน) ลงไปเสียก่อน จะได้ไม่รู้สึกวุ่นวายไปกับเขา เพราะตะละคนที่หมายใจมาทำบุญนั้นก็หอบข้าวของบรรดามีซึ่งนำมาแต่บ้านเกิดเมืองนอน ล้วนแล้วเป็นของที่เลือกสรรมาแล้วเป็นอย่างดีด้วยเชื่อว่าความดีที่อุตสาหะปราณีตบรรจงประกอบขึ้นนั้นจะช่วยทำให้ได้บุญมาก เพื่อไม่ให้เขาจิตตกเพราะความวุ่นวายที่สนามบิน การที่เราและหลายๆ คนนั่งอยู่กับที่ก็ช่วยได้มาก...



น้อง "ศรีษะเกษ" ที่พาเราบินตรงจากสุวรรณภูมิ ยืนสงบนิ่งอยู่ ณ รันเวย์เมืองคยา

....ขณะที่เรานั่งรอเวลาอยู่นั้น คุณสจ๊วตท่านหนึ่ง ที่บริการพวกเราบนเครื่องก็นำถุงกระดาษใบหนึ่งมาให้ ภายในบรรจุไว้ด้วยน้ำเต้าหู้สำเร็จรูปตรานางพยาบาลสองขวดพร้อมหลอดดูดมาให้ บอกว่าลูกศิษย์ที่ฝึกงานอยู่ที่สุวรรณภูมิที่แวะเข้ามาทักทายกันก่อนเดินทางฝากมาเทคแคร์ ครั้นจะให้ตั้งแต่เครื่องออกก็เกรงว่าจะเกินหน้าเกินตาผู้โดยสารท่านอื่น เลยบรรจงเอาลงถุงกระดาษแช่ไว้ในตู้เย็น แล้วนำมามอบให้ตอนจะลงเครื่องไว้เป็นเสบียงเบื้องต้นเมื่อต้องผจญภัยในแดนภารตะ เราก็รับไว้ด้วยน้ำใจสำนึกขอบคุณ แต่อารมณ์เวลานั้นไม่ได้นึกอยากกินอะไร จึงหมายใจว่าเมื่อถึงโรงแรมที่พุทธคยาแล้วก็จะรีบเอาเข้าตู้แช่ทันทีเพื่อนำไปถวายแก่พระภิกษุที่มาปฏิบัติธรรม ณ พระมหาวิหารในวันรุ่งขึ้น ในใจก็นึกขอให้ลูกศิษย์คนนั้น และคุณสจ๊วตที่เราเองก็จำชื่อเขาไม่ได้ จงมีสิทธิ์มีส่วนในกุศลกรรมนี้ เหมือนๆ กันกับเราด้วยก็แล้วกัน...ว่าแล้วก็ร่ำลากันลงจากเครื่อง...


ทุกคนเดินตามเส้นสีเหลืองนี้เข้าไปเพื่อทำพิธีการตรวจคนเข้าเมืองในท่าอากาศยาน

...ทันทีที่เดินออกจากประตูเครื่อง "ศรีษะเกษ" สายลมภายนอกก็พัดพาเอาไอร้อนของแดดบ่ายเมื่อปลายปีโชยมาปะทะกับใบหน้าทันที พวกเราไม่รีรอรีบลงบันไดเทียบข้างที่ทางท่าอากาศยานจัดให้เนื่องจากไม่มีงวงมารับเพราะนานๆ ทีจะมีเครื่องลง สิ่งที่เราได้พบเสมือนเป็นคำกล่าวทักทายของเมืองคยา (GAYA) ก็คือ เสียงบทสวดไตรสรณคมน์แบบเย็นๆ หลอนๆ ที่เราได้ยินในเสียงตามสายตั้งแต่เด็กๆ ว่า "....ผุทธัง...ซารานัง...กัดช้า....มี....ฯลฯ..." (พุทธัง สรณัง คัจฉามิ) ...อารมณ์ในเวลานั้นไม่มีอะไรอื่นนอกจากรู้สึกเอาเองว่า "...ยินดีต้อนรับ...ต่อจากนี้ไป เอ็งพึ่งใครไม่ได้แล้ว นึกถึงคุณพระคุณเจ้าเอาไว้ให้ดีก็แล้วกันนะ..."



ด้านหน้าท่าอากาศยานเมืองคยา ที่ว่างๆ โล่งๆ มีแต่พี่น้องแท็กซี่ที่มารอลูกค้า

...ด้วยความที่เรามีสัมภาระไม่มากนัก ทำให้เราผ่านการตรวจคนเข้าเมืองมาได้ค่อนข้างเร็ว เจ้าหน้าที่เขาก็มีอัธยาศัยน้ำใจไมตรีดี ซึ่งดูเหมือนว่าในวันที่เราไปถึงนั้นคงมีเพียงเที่ยวบินเดียวที่ลงจอด ท่าอากาศยานจึงเงียบสงบราวกับว่าไม่มีใครอยู่แถวนั้น เราเดินผ่านโถงกลางที่มีพระพุทธรูปขนาดพอๆ กันกับพระประธานในโบสถ์องค์หนึ่ง ยิ่งทำให้รู้สึกว่าอาคารแห่งนี้เหมือนกับสถานปฏิบัติธรรมที่ไหนสักแห่ง จากนั้นก็ไม่รอช้า รีบว่าแท็กซี่เข้าเมืองก่อน เพื่อไปจัดการเรื่องเปลี่ยนตั๋วรถไฟ ที่จองกันไว้ก่อนมาแล้วแต่เราต้องเปลี่ยนกำหนดเดินทาง สนนราคาค่าแท็กซี่เป็นอย่างไรก็จำได้ไม่ถนัดนัก พอนึกออกเพียงว่าบอกผ่านไปมากสำหรับเรา แต่พอนึกได้ว่านี่มันต่างบ้านต่างเมือง และเราก็มาในฐานะนักท่องเที่ยว ก็เลยไม่ถือ แต่เราก็พยายามต่อรองให้เยอะว่าให้รวมทั้งเข้าเมืองและออกไปที่พุทธคยาด้วย หากเอาท่าอากาศยานเป็นจุดศูนย์กลาง เข้าเมืองต้องออกไปทางซ้าย ส่วนพุทธคยาต้องเลี้ยวขวา ประมาณนี้ คะเนจากระยะทางที่จะต้องเดินทางกันแล้ว จ่ายค่าแท็กซี่ในราคานั้นก็นับว่าคุ้มแล้ว...

...แท็กซี่แบบลุยๆ ที่หาได้ทั่วไปตามท่าอากาศยานและสถานีรถไฟ...

...น้องโชเฟอร์ใจดีพาเราซอกแซกเข้าสู่ตัวเมืองคยาอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะมีผู้ร่วมทางจำนวนมาก เพราะถนนที่ใช้กันอยู่นั้นเป็นแบบสองช่องทางจราจร ทั้งคน ทั้งรถเล็กรถใหญ่ ทั้งเกวียน สามล้อ มอเตอร์ไซคล์ และวัว!! ต่างก็สัญจรไปบนทางสายเดียวกัน ระหว่างทางนั้นเราก็เห็นอะไรต่ออะไรมากมาย ซึ่งทำให้เราแจ้งใจได้ทันทีว่าทำไม่ที่นี่ถึงมีศาสดาเจ้าลัทธิมากมายนัก เพราะว่าทุกข์มันมีให้เห็นอยู่ทั่วไปจริงๆ (มีทุกข์มากขึ้นอีกนิดตรงที่น้องแกพยายามที่จะเอนเตอร์เทนเราด้วยการเปิดเทปเพลงแขกประกอบการโขยกเขย่าของรถที่วิ่งไปตามถนนที่ค่อนข้างจะจอแจเคล้าไปกับเสียงแตรที่เกิดขึ้นตลอดเวลา) พึงทราบว่าที่อินเดีย (เท่าที่เห็นมาในทริปนี้) การกดแตรสัญญาณนับว่าเป็นภาษาหนึ่งที่ใช้ในการสื่อสารเหมือนมนุษย์พูดกัน ผู้คนที่สัญจรไปมากดแตรให้กันก็จริง แต่ก็ไม่ได้กดแบบอารมณ์เสียเหมือนในบ้านเราที่กดไปก็สบถไป...ที่สุดแล้วก็ถึงสถานีรถไฟเมืองคยา พี่ที่ไปด้วยรับที่จะไปคุยกับคนออกตั๋วที่เคาน์เตอร์ ค่าที่เป็นผู้สั่งจองมา ซึ่งการจองตั๋วรถไฟในคราวนั้น เราฝากเอเจนซี่จองและนำตั๋วกลับมาให้จากอินเดียส่งมาถึงเชียงรายโดยทางไปรษณีย์ ซึ่งพี่คนนี้แกเป็นคนจัดการทั้งหมด เลยต้องเข้าไปคุยเอง...


...บรรยากาศการรอรถไฟและรอญาติๆ ที่หน้าสถานีรถไฟเมืองคยา...

...เสร็จธุระเรื่องตั๋วรถไฟแล้ว เหลือบมองนาฬิกาก็ใกล้จะหกโมงเย็นแล้ว เรายังคงต้องรีบออกจากเมืองไปเข้าที่พักที่พุทธคยา โชเฟอร์คนเดิมก็พาเราออกจากเมืองไปอย่างรวดเร็วไม่แพ้ขามา สายตาของคณะเราเริ่มชินกับภาพของอินเดียที่ไม่ต่างจากที่เราเตรียมข้อมูลกันมาก่อนมากนัก เพลงเริ่มเบาลง เพราะเราต้องตกลงให้เขามารับเราไปส่งสถานีรถไฟอีกรอบหนึ่งในอีกสองวันเพื่อเตรียมเดินทางต่อไปที่สารนาถและพาราณสี ซึ่งก็มีการแลกเบอร์โทรศัพท์กันเรียบร้อยก่อนจาก...

...พระมหาโพธิวิหารในยามค่ำ...

...ราวทุ่มเศษเราเดินทางมาถึงโรงแรมที่ได้จองไว้คือโรงแรมมหามายาซึ่งอยู่ตรงข้ามกันกับพระมหาวิหารพอดี เป็นโรงแรมขนาดเล็กแบบทาวน์เฮ้าส์ยาวๆ หน้ากว้างประมาณ ๓ คูหา สูงราว ๓-๔ ชั้น ซึ่งเดินจากโรงแรมไม่ถึงรอบสนามฟุตบอลก็ถึงประตูใหญ่พระมหาโพธิวิหาร วันนั้นเราเช็คอินเสร็จแล้วจึงออกไปสำรวจเบื้องต้นเพื่อดูถนนหนทางและของกินบางอย่างด้านนอก ก่อนที่จะกลับมาที่ห้องพักพร้อมส้มและแอ็ปเปิล อย่างละหนึ่งกิโล ซึ่งเราจะใช้มันล้างปากหลังจากจัดการกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่พกพาไปด้วย จากนั้นก็อาบน้ำนอนตามอัธยาศัย เตรียมตัวไว้สำหรับโปรแกรมวันรุ่งขึ้น...

*****************************************

...หมายเหตุ ภาพทั้งหมดนี้ Ch@ros ฉายเอง...


.

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

...วันลูกเสือ...

ข้าฯ ลูกเสือ เชื้อไทย ใจเคารพ ขอน้อมนบ บาทบงสุ์ พระทรงศรี
พระบาท มงกุฏเกล้า จอมเมาลี ทรงปรานีก่อเกื้อ ลูกเสือมา
ทรงอุตสาห์ อบรม บ่มนิสัย ให้มีใจรักชาติ ศาสนา
ทรงสั่งสอน สรรพกิจ วิทยา เป็นอาภาผ่องพุทธิ์ วุฒิไกร
ดั่งดวงจัน-... ทราทิตย์ ประสิทธิ์แสง กระจ่างแจ้งแจ่มภพ สบสมัย
พระคุณนี้ จะสถิต สนิทใน ดวงหทัยทวยราษฎร์ ไม่คลาด...เอย
.
.
.
...ไม่มีอะไร แค่คิดถึงวันนี้เมื่อหลายๆ ปีก่อน สมัยยังเป็นลูกเสือ ต้องไปร้องเพลงนี้ตลอดทุกปี...
...ความเยาว์วัยนี้จากเราไปไวจริงๆ...
.
****************************
ลูกเสือมาจากคำว่า SCOUT ซึ่งมีความหมายดังนี้
- S : Sincerity หมายถึง ความจริงใจ มีน้ำใสใจจริงต่อกัน
- C : Courtesy หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน เป็นผู้มีมารยาทดี
- O : Obedience หมายถึง การเชื่อฟัง อ่อนน้อมถ่อมตน อยู่ในโอวาท
- U : Unity หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้รักสามัคคี
- T : Thrifty หมายถึง ความมัธยัสถ์ ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด

...จริงๆ แล้วการเป็นลูกเสือสอนให้เราเป็นสุภาพบุรุษ เป็นสุภาพชน การขาดการเน้นย้ำและหมั่นฝึกฝน ทำให้เราลืมเลือนสิ่งนั้นไปอย่างน่าเสียดาย...
***************************
.