วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

จับเรื่องเล่าเอามาเรียง...จากเชียงตุง (๔)

...แผนผังโดยสังเขปของเมืองเชียงตุง ตามที่ปรากฏในหนังสือของ อ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว credit ทั้งเจ้าของหนังสือและผู้scan อยู่ในรูปแล้ว ขอขอบพระคุณไว้ ณ โอกาสนี้...


"...กินข้าวแล้วลืมตอเฟือง...
....นั่งเมืองแล้วลืมตูทั้งหลาย..."

.
...ความที่คัดมาข้างต้นนี้ เป็นถ้อยคำตัดพ้อต่อว่าเจ้าเมืองที่เสวยอำนาจแล้วลืมคุณผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนในตำนานการเกิดขึ้นของเมืองเชียงตุงก่อนจะมีคำว่าเชียงตุงให้ใช้...เรื่องนั้นมีอยู่ว่า...

...เดิมทีนั้นเชียงตุงมิได้ใช้ชื่อนี้มาแต่แรก "ประจันตคาม" หรือ "จัณฑคาม" คือชื่อเดิมของดินแดนแห่งนี้ ตั้งแต่สมัยที่สัตว์กับคนนั้นยังสามารถคุยกันรู้เรื่อง มีผู้คนมากมายอาศัยอยู่เป็นเมืองใหญ่ มีเจ้านายนั่งเมืองมายาวนาน จนกระทั่งสมัยหนึ่ง มีนายโคบาลหรือคนเลี้ยงวัวคนหนึ่งได้มีโอกาสเป็นเจ้าเมือง เนื่องจากเจ้าเมืององค์ก่อนนั้นสิ้นพระชนม์โดยที่ไม่มีผู้สืบราชสมบัติ เหตุที่ชายเลี้ยงวัวผู้นั้นได้เสวยราชสมบัตินั้นเป็นเพราะ เขาเคยเลี้ยงกาฝูงหนึ่งด้วยอาหารของเขาเองในระหว่างการเลี้ยงวัว เพราะสงสารที่กาฝูงนั้นไม่มีอาหารจะกิน...
.

...เมื่อกาฝูงนั้นรู้ข่าวว่าเจ้าเมืองจัณฑคามสิ้นพระชนม์ ก็คิดตอบแทนคุณข้าวคุณน้ำของชายเลี้ยงวัว จึงตกลงกันจะช่วยให้เขาได้เป็นเจ้าเมือง ดังนั้นแล้วจึงไปตกลงกับชายเลี้ยงวัวว่าฝูงกานี้จะช่วยให้เขาได้เป็นเจ้าเมือง แต่ขอให้มีข้อแลกเปลี่ยนว่า ทุกๆปี เขาจะต้องเสียควายหนึ่งตัวเป็นอาหารให้กับฝูงกา นายโคบาลนั้นก็รับปากด้วยดี ฝูงกาจึงออกอุบายให้ชายเลี้ยงวัวนั่งอยู่ในกรงไม้แล้วพากันคาบหอบกรงไม้นั้น บินเข้าไปในปราสาทของเจ้าเมืองในเวลากลางคืน รุ่งขึ้น บรรดาเสวกามาตย์ต่างพบว่านายโคบาลนั้นอยู่ในปราสาท จึงคิดว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการมาครองเมือง จึงพร้อมใจกันยกให้นายโคบาลนั้นเป็นเจ้าเมืองในเวลาต่อมา... .

.

...เวลาผ่านไปไม่นาน นายโคบาลนั้นก็ลืมสัจจะสัญญาที่ให้ไว้แก่ฝูงกา ฝูงกาจึงคิดเอานายโคบาลนั้นออกจากราชสมบัติ โดยทำอุบายว่าจะพานายโคบาลนั้นไปเป็นพระราชาในเมืองที่ใหญ่กว่า มีทรัพย์สมบัติมากกว่านี้ เมื่อนายโคบาลทราบดังนั้นก็ตัดสินใจว่าจะไปตามที่ฝูงกาเสนอด้วยความโลภ ที่สุดแล้วฝูงกาก็นำนายโคบาลนั้นไปปล่อยบนเกาะร้างแห่งหนึ่ง พร้อมสาปแช่งไว้ให้เมืองจัณฑคามนั้นล่มลงกลายเป็นหนองน้ำ แต่ภายหน้าจะกลับมารุ่งเรืองเป็นเมืองอีกครั้ง ใครก็ตามที่มาเป็นเจ้าเมือง หากลืมบุญคุณของมิตรสหาย เป็นผู้ไม่รักษาสัญญาแล้วก็ขอให้พบกับความวิบัติพลัดพรากอย่างที่นายโคบาลเป็นอยู่นี้ แล้วก็พากันบินจากไป หลังจากนั้นจึงเกิดฝนตกหนักถึง 7 วัน 7 คืน และน้ำนั้นได้ไหลท่วมเมืองจนหมดสิ้น ชาวเมืองที่รอดตายก็พากันอพยพไปอยู่ตามเทือกดอยต่างๆ และไม่มีใครได้กลับมาอีก คนเลี้ยงวัวนั้นก็ตรอมใจตาย แต่ดวงใจยังอาลัยในราชสมบัติเมืองจัณฑคามอยู่ ด้วยความหลงนั้นเองชักพาดวงวิญญาณให้เข้าไปเกิดเป็นพญาปูคำ (ปูเหลือง) เฝ้าเมืองที่ล่มสลายไปดังกล่าว

.

...ชะตากรรมของเมืองจัณฑคามนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ หรือคติในการควบคุมให้ผู้มีอำนาจนั้นต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมและจริยธรรมอย่างเข้มงวด หาไม่แล้ว ความพินาศล่มจมจะไม่เกิดขึ้นกับตนเองเท่านั้น หากยังทำให้คนหมู่มากพลอยได้รับผลกระทบนั้นตามไปด้วย ซึ่งความคิดทำนองนี้ก็ยังคงปรากฏเป็นจริงอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่ว่า บางคนเขาไม่รู้สึกรู้สมด้วยก็เท่านั้นเอง...

.

...ตามตำนานนั้นกล่าวว่า เมื่อถึงสมัยพระพุทธเจ้าของเรา พระองค์เสด็จเลียบโลกเพื่อโปรดสัตว์ในพื้นที่ต่างๆ เมื่อเสด็จมาถึงหนองน้ำใหญ่จัณฑคาม ได้ทรงมีพุทธฎีกาพยากรณ์ว่า หนองน้ำนี้ต่อไปจะกลับกลายเป็นเมืองอีกครั้งชื่อว่าเมืองนามจัน โดยมีฤๅษีตนหนึ่งมาไขน้ำออกจากหนองนี้ แล้วจะมีคนมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ต่อไป (เป็นเหตุว่าทำไม่รัฐบาลพม่าจึงสร้างพระพุทธรูปใหญ่ขึ้นบนดอยจอมสัก แล้วชี้พระหัตถ์มาทางหนองตุง คล้ายกับพระพุทธรูปยืนปางพุทธพยากรณ์ที่เขามัณฑะเลย์ ต่างกันแต่ว่า ที่เชียงตุงนี่ไม่มีรูปพระอานนท์...พระพุทธพยากรณ์นี้เป็นที่หมายแรกๆ ในการเดินทางรอบเมือง ซึ่งจะเล่าเสริมในภายหลังครับ)

.


...พระพุทธพยากรณ์บนดอยจอมสัก...

...จากนั้นอีกนาน จึงมีฤๅษีตนหนึ่ง เคยเป็นราชบุตรพระเจ้ากรุงจีน หรือเจ้าฟ้าเมืองว้องในตำนานเชียงตุง ชื่อว่าตุงครสี หรือตุงคฤๅษี (คำว่า"รสี" ก็คือพระฤๅษีนั่นเอง) ใช้ไม้เท้าขุดทางไขน้ำออกจากหนอง ชาวฮ่อแข่ยูนนานที่ติดตามฤๅษีมาก็ต่างสร้างชุมชนขึ้นเป็นเมืองอีกครั้งหนึ่ง เวลาผ่านไปอีกเล็กน้อย ซึ่งไม่ทราบว่านานเท่าไร ชาวฮ่อแข่ยูนนานเหล่านั้นก็ทิ้งเมืองไปอีกเนื่องจากโรคระบาด ทิ้งน้ำเต้าที่ปลูกไว้ในเขตบ้านเรือนตนให้เติบโตขึ้น จนกระทั่งผลน้ำเต้านั้นแก่และแตกออกกลายเป็นผู้คนอาศัยอยู่ในเมืองนามจันนั้นสืบมา แต่คนมักเรียกชื่อเมืองนั้นว่า "เชียงตุง" ตามชื่อตุงครสีผู้นำการสร้างเมืองมากกว่า...

.

...ตามตำนานข้อนี้ น่าเชื่อว่า คนไทขึน/เขิน ที่อาศัยอยู่ในเชียงตุงนั้นเชื่อว่ากำเนิดของคนนั้นมาจากผลน้ำเต้า และข้อเท็จจริงของการเกิดชุมชนในพื้นที่ที่เรียกว่าเชียงตุงนั้น น่าจะเกิดจากการอพยพมาของคนจีนในยูนนานผสมกับคนพื้นเมืองในแถบนั้น ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นพื้นที่ของคนพื้นเมืองไปโดยปริยาย...

วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551

จับเรื่องเล่าเอามาเรียง...จากเชียงตุง (๓)


...จากจุดนี้ เหลืออีกประมาณ 30 กิโลเมตร จะถึงตัวเมืองเชียงตุง...
.
รถตู้ของชาวคณะเรา (รวมสองคัน) แล่นไปบนถนนเล็กๆ ความยาวตลอดสายจนถึงเชียงตุงรวม 165 กิโลเมตร ซึ่งมีการพัฒนาขึ้นจากเส้นทางที่คนสมัยก่อนใช้สำหรับเดินทางติดต่อค้าขายระหว่างเมืองต่างๆ ซึ่งการค้าตามเส้นทางนี้มีมูลค่าสูงมากจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “เส้นทางสายทองคำ” ทั้งการค้าต่างหลังม้า หลังลา หลังฬ่อ หรือแม้กระทั่งการค้าทางบกแบบเล็กๆ น้อยๆ ในปัจจุบัน ตามประวัติมีอยู่ว่าถนนสายนี้มีการพัฒนาอย่างสำคัญเมื่อช่วง พ.ศ.2485 เพื่อรองรับการเดินทัพของกองทัพพายัพขึ้นไปยังเชียงตุง และอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2542 เพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจในการค้าทางบกระหว่าง จีน พม่า และไทย
.

...คนที่นี่ทำนาหน้าบ้านได้เลย...

ถนนสายนี้ตัดผ่านหมู่บ้านและชุมชนน้อยใหญ่รายทาง สลับกับทุ่งนาและป่าเขา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามชุมชนเหล่านั้นทั้งคนไต คนลื้อ คนเขิน คนหลอย (คนดอย) คนอาข่า คนปะหล่อง ทั้งคนพม่าต่างก็มักจะหยุดการทำงานแล้วมองขบวนเล็กๆ ของชาวคณะเราเป็นระยะๆ ราวกับว่าการมาของนักทัศนาจรนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่นานทีปีหนจะเวียนวนมาให้เห็นสักครั้งหนึ่ง เนื่องจากการเดินทางในวันหยุดของเราตรงกับวันธรรมดาของที่นั่น เราจึงเห็นทั้งชาวนาชาวไร่ ข้าราชการ ทหาร และหมู่ของนักเรียนที่เดินกลับบ้านเพื่อไปกินมื้อเที่ยงด้วยชุดนักเรียนเสื้อขาวโสร่งหรือซิ่นสีเขียว บางคนก็แอบสวมกางเกงยีนไว้ข้างใน แต่ที่แน่ๆ ผู้คนตามรายทางเหล่านั้น โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ส่วนมากประแป้งทานาคาจนหน้านวล และเคี้ยวหมากจนปากแดง



...รถจ้างเหมาคันหนึ่งที่เราเจอ ณ ด่านแรก หลังจากออกจากท่าขี้เหล็ก...
.
คุณพี่ท่านหนึ่งในคณะของเรากล่าวว่า เขาว่ากันว่า กว่าจะถึงเชียงตุงได้นั้นต้องผ่านด่านน้อยใหญ่รวมแล้ว 11 ด่าน แต่จากข้อมูลในหนังสือ “วิถีไทเขิน เชียงตุง” บอกกับเราว่า ด่านที่รถทุกคันต้องแวะมีทั้งสิ้น 8 ด่าน (ซึ่งเราต้องชำระค่าผ่านทางทุกด่าน) ได้แก่
1. ด่านมะยางโหลง
2. ด่านนักสืบบ้านท่าเดื่อ (ทำนองว่าเป็นสันติบาล แต่พี่หลุยของเราใช้คำเรียกว่า ด่านทหารสายลับ ซึ่งฟังดูน่ารักเกินกว่าที่จะใช้เรียกหน่วยราชการ)
3. ด่านปางค้าน้อย
4. ด่านเมืองพยาก (ตามหนังสือว่ามี 4 ห้อง ต้องจ่ายเงินทุกห้อง)
5. ด่านนักสืบเมืองพยาก
6. ด่านเก็บเงินแบบด่านทางด่วนบ้านเรา
7. ด่านหนองโนน (ใกล้น้ำพุร้อน - - น่าจะเป็นด่านเก็บเงินแบบด่านทางด่วนอีกแห่งหนึ่งที่ใกล้ๆ กันนั้นมีป้ายยินดีต้อนรับสู่เชียงตุง ในหนังสือบอกว่าต้องลงรถแล้วเดินตามรถผ่านด่านไปแล้วค่อยไปขึ้นรถอีกที ซึ่งตลอดเส้นทางนั้น ไม่มีจุดไหนเลยที่เราต้องลงรถแล้วไปขึ้นรถอีกครั้ง)
8. ด่านมาทาท่า ก่อนเข้าเมืองเชียงตุง มีทั้งด่านตรวจคน ตรวจรถ และล้างรถก่อนเข้าเมือง (พี่หลุยให้ข้อมูลแก่ชาวคณะเราว่า รถที่จะเข้าเมืองนั้นจะต้องถูกล้างให้สะอาดก่อน ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับให้กับทางการ)


...บ้านบางหลังระหว่างทาง...

เรามาถึงเชียงตุงแบบสบายๆ ราวเที่ยงครึ่ง ผ่านอาคารสถานที่ราชการจำนวนมาก ราวกับว่าเมืองทั้งเมืองเป็นศูนย์ราชการ พี่หลุยบอกว่า อย่าเที่ยวยกกล้องขึ้นถ่ายรูปสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะที่เมืองพม่านี้ไม่ชอบให้ใครถ่ายรูปสถานที่ราชการ ทหารจับได้แล้วเรื่องยาว การเที่ยวนั้นจะกร่อยเสียเปล่าๆ เลยได้ข้อสรุปของตัวเองว่า เที่ยวในเมืองแบบนี้ ดูได้ทุกอย่าง แต่เก็บได้แต่สิ่งที่เขาอยากให้เก็บเท่านั้น ถ้าอยากเดินทางอย่างมีความสุข...

.