วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
...เราควรจะหงุดหงิดหรือไม่?...
วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
จับเรื่องเล่าเอามาเรียง...จากเชียงตุง (๒)
เราออกจากด่านแล้วแวะรับน้ำดื่มและขนมสำหรับดื่มและกินระหว่างทางที่ร้านโชห่วยแห่งหนึ่งในตลาดท่าล้อ ที่ซึ่งชาวเรามักข้ามฝั่งไปซื้อหาสินค้านานาชนิดอยู่บ่อยครั้ง ก่อนนั่งรถไปตามถนนที่ผ่านการใช้งานอย่างสมบุกสมบันมายาวนาน ออกจากตัวเมืองท่าขี้เหล็ก ซึ่งพี่หลุยบอกกับเราว่า เพิ่งยกฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของรัฐฉานตะวันออกได้ไม่นานมานี้ เพราะเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งมีเงินหมุนเวียนอยู่มาก ชาวคณะเราต่างส่งสายตาออกไปภายนอก เพราะไม่ใคร่จะมีใครได้ออกมาไกลกว่าตลาดท่าล้อ ก็พากันตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่เห็นภายนอก ทั้งตลาด ผู้คน อาคารบ้านเรือน วัดวาอาราม ท่ารถ และสนามบิน ซึ่งใช้สำหรับเดินทางภายในประเทศทั้งสิ้น
.
มองๆ ดูแล้ว บ้านเมืองตามรายทางนั้นก็คล้ายๆ กับอำเภอรอบนอกของเชียงรายนี่เอง มีถนนหลักขนาดความกว้างสองช่องจราจร ซึ่งนานๆ ครั้งจะมีรถขับสวนมา พ้นจากตลาดท่าล้อแล้วก็ไม่มีตึกสูงเลย อย่างดีก็เป็นบ้านสองถึงสามชั้น บางหลังเป็นตึกครึ่งไม้ บางหลังเป็นบ้านตึกอย่างดีสีสันสดใส เราเริ่มสัมผัสได้ถึงบรรยากาศ วิถีชีวิตแบบเรียบง่ายของชาวบ้านร้านถิ่น เสียงของพี่หลุยแว่วมาว่า เวลาในประเทศพม่าจะช้ากว่าเมืองไทยราวสามสิบนาที แต่เราไม่จำเป็นต้องปรับนาฬิกาตาม เพราะเราจะนัดหมายกันเป็นเวลาประเทศไทย.....ทำให้ตัวผมเองเริ่มรู้สึกว่า นาฬิกาของเรากับนาฬิกาของคนที่นั่นเดินไม่เหมือนกัน
.
นาฬิกาของเรานั้นเดินเป็นวงกลม ที่หมุนเร็ว และเดินซ้ำไปซ้ำมาบนรอยเดิม เริ่มต้นแต่ละวันด้วยความรีบเร่ง และไม่ได้ใส่ใจรายละเอียดในการดำเนินชีวิตมากนัก สักแต่ว่าทำกิจวัตรประจำวันให้เสร็จๆ ไป ระหว่างวันก็วุ่นวนอยู่กับกิจการงานในหน้าที่บ้าง เสียเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องบ้าง จบวันหนึ่งๆ ไปด้วยความรู้สึกกึ่งล้ากึ่งขี้เกียจ แล้ววันรุ่งขึ้นก็กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีก
.
ส่วนนาฬิกาของคนที่นั่น ก็อาจจะเป็นวงเหมือนกัน แต่คงจะมีขนาดใหญ่กว่ามาก ค่อยๆ เดินอย่างระมัดระวัง และมีเวลาใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และความรื่นรมย์ในชีวิต ซึ่งคนที่หมกมุ่นอยู่กับความสับสนวุ่นวายในสังคมเมืองอาจมองไม่เห็น
................................................................
ตอบคำถามนะครับ
.
การเดินทางไปเยี่ยมเมืองเชียงตุงนั้น ถ้าเราเป็นนักศึกษาประวัติศาสตร์ หรือผู้สนใจสถาปัตยกรรม ศิลปะ และเรื่องของวิถีชีวิตควรจะมีเวลาอยู่ที่นั่นสักสัปดาห์หนึ่ง จะได้อะไรกลับมาอีกเยอะ แต่ถ้าเราไม่ได้ดื่มด่ำกับมันมากนัก หรือเป็นนักท่องเที่ยวแบบทัวร์ชะโงก ก็ซื้อบริการจากบริษัทนำเที่ยวไปเลยครับ รายการนำเที่ยวตามที่ตกลงกันปัจจุบันเท่าที่ทราบจะอยู่ที่ สองคืนสามวันที่โรงแรมชั้นหนึ่งของที่นั่น+ ค่าเดินทาง+อาหารอย่างดี+มัคคุเทศก์ ประมาณ 6,000 บาทต่อคนครับ (ยังไม่รวมทิปให้มัคคุเทศก์ครับ คราวที่ผมไปนี้ เขาบริการดีจนเราเกรงใจเลย...) ถ้าจะเพิ่มเวลาก็ต้องตกลงกับบริษัทเอง เพราะตามกฎหมายแล้ว เราสามารถอยู่ชื่นชมกับความสวยงามที่นั่นได้ถึง 14 วันโดยไม่ต้องทำวีซ่าครับ
.
หรือถ้าจะไปแบบแบ็กแพ็ค ก็ต้องหาทางจองโรงแรมเอง ค่าที่พักนี้ไม่ทราบว่าเท่าไรนะครับ แล้วขึ้นรถจากท่าขี้เหล็กเข้าเชียงตุง หากเป็นรถโดยสาร (ต้องนั่งรถรับจ้างจากหน้าด่านไปท่ารถประมาณ 3 กม.) ค่าโดยสารจะอยู่ในราว 350 บาทต่อคน (ไม่ทราบราคาตั๋วไปกลับนะครับ) และอาจต้องเพิ่มค่ารถรับจ้างอีกนิดหน่อย หากเหมารถขาวมาก็อาจจะอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้ต้องต่อรองราคาเองครับ การดำเนินการเกี่ยวกับพิธีการผ่านแดนคงต้องคุยกับคนที่เขามีประสบการณ์ตรงจะดีกว่าครับ อาหารการกินที่นั่นหายห่วงครับ หากินได้ทั้งวันในราคาที่เรารับได้ เลือกเอาที่เขาทำใหม่ๆ ร้อนๆ นั่นละครับกีที่สุด ข้อแนะนำสำคัญคือ พยายามแลกธนบัตรใบละ 20 บาท และเหรียญย่อยๆ ติดกระเป๋าไว้หน่อยก็ดีครับ ซื้อหาสินค้าเล็กๆ น้อยๆ ได้สะดวก แต่ถ้าต้องการซื้อของที่มีราคาค่างวดสูง พกใบใหญ่ๆ ไว้ก็ไม่มีปัญหาครับ พ่อค้าแม่ขายที่นั่นพอจะฟังภาษาไทยรู้เรื่องเพราะที่นั่นเขาดูโทรทัศน์บ้านเราด้วยครับ
.
วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
จับเรื่องเล่าเอามาเรียง...จากเชียงตุง (๑)
ระหว่างวันที่ 23 – 25 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เดินทาง ไปทัศนศึกษา (ว่ากันตามภาษาเราๆ ก็คือไปเที่ยวนั่นเอง) ที่เมืองเชียงตุง รัฐฉานตะวันออก ของสหภาพเมียนมาร์ ก่อนอื่นขอกราบงามๆ ขอบพระคุณสปอนเซอร์เป็นอย่างสูงที่ทำให้ชาวคณะเราได้มีโอกาสอันดีนี้
.
รถออกจากเชียงรายราวเจ็ดโมงครึ่ง แวะรับกันมาเรื่อยๆ กระทั่งถึงอำเภอแม่สายราวแปดโมงครึ่ง กินมื้อเช้ากันท้องกิ่ว จนได้ฤกษ์ (สะดวก) ออกเดินทาง ซึ่งเราต้องแวะทำเรื่องผ่านแดนให้เรียบร้อย ได้ทราบมาว่า ระวางนี้ พวกเราจะต้องยอมให้เจ้าหน้าที่ (ทางนั้น) เก็บบัตรประจำตัวประชาชนไว้ตลอดการเดินทาง สิ่งที่เราได้กลับมาคือใบผ่านแดน จำนวนเท่ากับบัตรประชาชนที่พวกเรายื่นให้เจ้าหน้าที่ไป ซึ่งผู้นำทางของเราจะเป็นผู้ถือเอกสารทั้งนั้น เพื่อดำเนินการทางด้านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง
.
พี่หลุยแจ้งเราว่า จะต้องเดินทางจากด่านแม่สายไปอีกราวสามชั่วโมง ถ้าไม่มีปัญหาอะไร เราคงถึงเชียงตุงในราวเที่ยงวัน และจะแวะกินมื้อเที่ยงกันก่อน ค่อยเข้าที่พัก ซึ่งเป็นโรงแรมรัฐบาลที่สร้างบนรากฐานของหอหลวงเจ้าฟ้าเชียงตุงเดิม ทำให้ชาวคณะเราบางท่านที่ออกจะขวัญอ่อนเริ่มแซวกันเองบ้างแล้วเกี่ยวกับคืนแรกในเชียงตุง...
.
ก่อนออกจากด่าน ใครสักคนได้เตือนให้สาวๆ ชาวคณะเราหาหมวกติดตัวไว้เพื่อสะดวกต่อการบังแดดบังฝน เพราะเมื่อถึงที่นั่น การหุบร่มกางร่มบ่อยๆ ออกจะเป็นเรื่องวุ่นวาย ประเดี๋ยวฝนตก ประเดี๋ยวฝนหยุด ประเดี๋ยวแดดจ้า ประเดี๋ยวฟ้าบด สวมหมวกเสียก็สิ้นเรื่อง สาวๆ ก็เลยกรูกันลงไปหาซื้อหมวกกันแล้วกลับมาขึ้นรถ ขณะที่นั่งรถผ่านด่านนั้น เราทุกคนต้องเปิดกระจกให้เจ้าหน้าที่ได้เห็นผู้โดยสาร ว่ามีใครอยู่บ้าง เสียงของเราเริ่มเงียบลงตามลำดับ เมื่อชีวิตของเราไม่ได้เป็นของเราโดยแท้ ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การกระทำของเรานั้นย่อมอยู่ใต้การกำกับ (...แม้กระทั่ง “ใต้บงการ”) ของรัฐ และอื่นๆ ทั้งสิ้น การนั่งรถเพื่อผ่านด่านก็นับว่าอยู่ในเกณฑ์นี้ด้วย
.
อาจจะฟังดูเกินจริงหากจะบอกว่า เวลานั่งรถผ่านด่านนั้นมันช่างยาวนานและน่าตื่นเต้นราวกับว่าเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ ทั้งๆที่ เมื่อช่วงมิลเลเนียมที่ผ่านมานั้น ผมก็นอนซุกผ้าห่มอยู่ที่บ้านดูโทรทัศน์ไปอย่างเรื่อยๆ เฉื่อยๆ หรือด่านที่เรากำลังผ่านนี้เอง ผมก็เดินผ่านมาเป็นสิบครั้งแล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกแบบนี้...เห็นจะเป็นเพราะคำว่า “เชียงตุง” แน่แท้
.
ไม่ได้คิดว่าจะพูดให้ดูเป็นนิยาย หรืออะไรเลย แต่ผมอดประหลาดใจกับความรู้สึกแปลกใหม่อย่างนั้นไม่ใคร่ได้ ที่ว่า “เห็นจะเป็นเพราะคำว่าเชียงตุง” นั้น มาได้คำตอบเอาทีหลังว่า เราได้ยินได้ฟังเรื่องเมืองนี้มาเยอะ แล้วก็คิดหาโอกาสที่จะได้ไปเยี่ยมไปเยือนสักครั้ง พอจะได้ไปถึงเข้าจริงๆ มันก็ตื่นเต้นเป็นธรรมดา
.
เรื่องราวของเชียงตุงที่เคยผ่านหูผ่านตานั้น มีทั้งเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ ตำนาน นิยาย สารคดี ละคร ฯลฯ ทำเอาเราคิดถึงเชียงตุงในหลากหลายรูปแบบ เรื่องหนึ่งที่ติดใจมากเป็นพิเศษก็คือเรื่องของปู่ ซึ่งเป็นเรื่องสั้นๆ ที่ท่านเคยเล่าไว้เมื่อนานมาแล้วว่า เมื่อครั้งจอมพลผิน ชุณหะวัน นำกองกำลังทหารไทยขึ้นไปเชียงตุงนั้น ปู่ก็เป็นส่วนเล็กๆ ในกองทัพนั้นด้วย ท่านยังเล่าถึงความประทับใจให้ฟังว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะที่อยู่ที่นั่น ทหารไทยได้พบกับเจ้าพรหมลือ เจ้าฟ้าเชียงตุงในยุคปลายองค์หนึ่ง[1] ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับทางการไทย ปู่ยังจำได้ว่าเจ้าพรหมลือนั้นไม่ถือองค์เลย ทั้งยังทรงต้อนรับทุกคนด้วยอัธยาศัยใจคออันดีแม้ว่าท่านจะทรงเป็นเจ้านายใหญ่ยศ ปู่จึงประทับใจในจรรยาของท่านเป็นพิเศษ การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นรายการ หลานตามรอยปู่ในเชียงตุง ซึ่งก็บังเอิญว่าในชาวคณะเรานี้มีคุณพี่ท่านหนึ่งซึ่งมีคุณพ่อเป็นทหารผ่านศึกมาในกองกำลังเดียวกันกับปู่ด้วย แต่ก็ไม่ได้ถามไถ่อะไรกันมากนัก เนื่องจากผมมีข้อมูลไม่มากนัก เพราะได้ยินได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้เมื่อนานมาแล้ว และไม่สามารถกลับไปถามไถ่หรือเล่าอะไรให้ปู่ฟังได้อีก ค่าที่ปู่ของผมท่านไม่อยู่ให้ถามหรือพูดคุยกันเสียแล้ว...
...................................................
.
[1] เจ้าฟ้าพรหมลือนั้นตามประวัติว่าเป็นต้นสกุล ณ เชียงตุง สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองสาม (ตรงกับสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี) ซึ่งเป็นต้นวงศ์ แต่ว่าตามพงศาวดารฝ่ายเชียงตุงนั้นเขาก็ว่าสืบเชื้อมาจากพรญามังราย เจ้าเมืองสามมีราชบุตรชื่อ เจ้ากองไทย สารัมพยะ เป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงสืบมา เจ้าฟ้าองค์ต่อมาคือเจ้าดวงแสง (หรือเจ้ามหาขนาน)-เจ้ามหาพรหม และ เจ้าแสงตามลำดับ จนเมื่อประมาณรัชกาลที่ 5 ของเรานี้ เจ้าโชติกองไทขึ้นเป็นเจ้าฟ้า ต่อด้วยเจ้ามหาพยัคฆโชติ เมื่อสิ้นสมัยเจ้ามหาพยัคฆโชติแล้ว เจ้าก้อนแก้วอินแถลงราชบุตร เจ้าโชติกองไท ก็ได้เป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงต่อมา (เหตุการณ์ช่วงนี้ตรงกับช่วง รัชกาลที่5 ถึงรัชกาลที่ 7) มีพระมเหสี 6 องค์ และมีราชบุตร-ราชธิดารวมกัน ดังนี้
1. เจ้าแม่ปทุมา ราชธิดาเจ้าเมืองสิงห์ เป็นมหาเทวี(มเหสีเอก) มีราชธิดา 1 องค์ คือเจ้าหญิงทิพย์เกษร และราชบุตร 1 องค์ คือเจ้าพรหมลือ (ท่านผู้นี้คือต้นสกุล ณ เชียงตุง)
2.เจ้าแม่จามฟอง สามัญชนมีราชบุตร-ราชธิดารวม 6 องค์ คือเจ้ากองไท (ได้เป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ต่อมา); เจ้าอินทรา (ได้เป็นบุตรบุญธรรมเจ้าฟ้าเมืองสีป้อ); เจ้าปราบเมือง; เจ้าขุนศึก (องค์นี้ไม่แน่ใจว่าคือต้นสกุล "ขุนศึกเม็งราย" หรือเปล่า?); เจ้าหญิงบัวสวรรค์ และเจ้าหญิงฟองแก้ว
3. เจ้าแม่บัวทิพย์หลวง มี 5 องค์ ได้แก่ เจ้าหญิงแว่นแก้ว (เป็นมหาเทวีเจ้าฟ้าลอกจอก); เจ้าหญิงสุคันธา (สมรสกับเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่บุตรพ่อเจ้าแก้วนวรัฐ); เจ้าหญิงแว่นทิพย์(เป็นมหาเทวีเจ้าฟ้าแสนหวี แต่ภายหลังหย่าร้าง); เจ้าสิงห์ไชย และ เจ้าแก้วมาเมือง
4. เจ้าแม่นางแดงหลวง มี 2 องค์ ได้แก่ เจ้าสายเมือง และเจ้าหญิงจันทร์ฟอง (สมรสกับข้าราชการป่าไม้ชาวไทย)
5. เจ้าแม่บุญยวง มี 2 องค์ ได้แก่ เจ้าหญิงฟองนวล และเจ้าบุญวาทย์วงศา (คนละองค์กับพ่อเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตเมืองลำปาง - -ท่านผู้นี้มีบทบาทในการต้อนรับกองทัพไทยที่บุกเข้าเชียงตุงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพพายัพของไทย ซึ่งนำโดยหลวงเสรีเริงฤทธิ์(พลเอกจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ได้ใช้คุ้มของท่านผู้นี้เป็นกองบัญชาการ)
6.เจ้าแม่บัวทิพย์น้อย ได้แก่ เจ้าหญิงองค์หนึ่ง และเจ้าชายชื่อเจ้ายอดเมือง
เจ้าฟ้าก้อนแก้วนั้นได้ส่งเจ้าพรหมลือ และเจ้ากองไท ไปศึกษาต่อในยุโรป แต่ทั้งสองไม่ทันเรียนจบก็ถูกเรียกตัวกลับเชียงตุง ทางเจ้าพรหมลือนั้นยอมกลับแต่โดยดี แต่เจ้ากองไทนั้นได้สมัครเป็นนายทหารในกองทัพอังกฤษแล้ว โดยส่งจดหมายชี้แจงต่อเจ้าพ่อว่า ตนเองไม่มีหวังที่จะก้าวหน้าในเชียงตุง เพราะไม่ได้เป็นราชบุตรเกิดแต่มหาเทวี ไม่มีสิทธิ์ได้เป็นเจ้าฟ้าต่อจากเจ้าพ่อ จึงขอแสวงหาความก้าวหน้าในกองทัพอังกฤษต่อไป เจ้าฟ้าก้อนแก้วจึงขอให้กลับมาก่อน หลังจากนั้นได้มีการตั้งตำแหน่งเจ้าในทางราชการของเชียงตุง ซึ่งเจ้าชั้นสูงของเชียงตุงนั้นมี 5 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าฟ้า(เจ้าผู้ครองนคร); เจ้าแกมเมือง(อุปราชรัชทายาท); เจ้าเมืองเหล็ก; เจ้าเมืองขาก และเจ้าเมืองขอน ในการนี้เจ้าพรหมลือได้เป็นเจ้าเมืองเหล็ก ขณะที่เจ้ากองไทได้เป็นเจ้าแกมเมือง หรือเจ้าแสนเมือง เพราะตามศักดินาได้กินนาแสน โดยการตั้งตำแหน่งเจ้าครั้งนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมเจ้าพรหมลือไม่ได้เป็นรัชทายาท แต่การสืบราชสมบัติเมืองเชียงตุงนี้ไม่มีเกณฑ์แน่นอน จึงอนุมานเอาว่าคงเป็นเพราะท่านคงเห็นว่าเจ้ากองไทมีศักดิ์เป็นพี่ของเจ้าพรหมลือ (แต่จริงๆแล้วเกิดก่อนกันไม่กี่วันเท่านั้น) จึงตั้งเป็นรัชทายาท ทางเจ้าพรหมลือก็หันไปทำธุรกิจหลายอย่างจนร่ำรวยกว่าบรรดาเจ้านายด้วยกัน และต่อมาได้สมรสกับเจ้าหญิงทิพวรรณ ณ ลำปาง นัดดาเจ้านครลำปาง
ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้าก้อนแก้วฯสิ้นพระชนม์ เจ้ากองไทจึงได้เป็นเจ้าฟ้าแทน แต่เป็นได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์เมื่อกลับจากงานเทศกาลวันออกพรรษา งานนี้สามารถจับตัวฆาตกรได้ และในเบื้องต้นได้ซัดทอดคนสนิทเจ้าพรมลือจนมีเสียงร่ำลือว่าเจ้าพรหมลือมีส่วนในการจ้างวานผู้อื่นลอบปลงพระชนม์เจ้าฟ้ากองไท เพราะต้องการแก้แค้นที่ถูกปล้นราชสมบัติไป ท่านผู้นี้จึงต้องจ้างวานทนายความจากพม่ามาเพื่อแก้ต่างในคดีนี้จนเสียเงินว่าจ้างเป็นจำนวนมาก แต่ก็พ้นข้อกล่าวหามาได้ และชาวเชียงตุงส่วนใหญ่ก็ไม่ปักใจเชื่อว่าเจ้าพรหมลือจะมีส่วนในคดีนี้ เพราะเห็นว่าทั้งสองนั้นรักใคร่สนิทสนมกันมาก ขณะที่ข้าหลวงอังกฤษยังคงเชื่อมั่นว่าเจ้าพรหมลือต้องมีส่วนในกรณีนี้ (สนใจค้นคว้าต่อในเรื่อง "The Lords of Sunset" มีรายละเอียดเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมเจ้าฟ้าในมุมมองของชาวอังกฤษ) ในหนังสือที่เกี่ยวกับกองทัพไทยในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพานั้นกล่าวถึงเรื่องเจ้าพรหมลือว่าเมื่อกองทัพพายัพของไทยบุกเข้าเชียงตุงได้ ตามนโยบายสหรัฐไทยเดิม ก็มีการแต่งตั้งจากทางกรุงเทพฯให้เจ้าพรหมลือเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุง และให้เจ้าฟ้าพรหมลือและเจ้าบุญวาทย์วงศาเป็นที่ปรึกษาของข้าหลวงทหารฝ่ายไทย ทางอังกฤษก็เห็นว่าเจ้าพรหมลือมีใจฝักใฝ่ฝ่ายไทย จึงยิ่งทวีความไม่ชอบเข้าไปอีก (อาจมีชนวนมานานแล้ว ทั้งผลประโยชน์ในการค้า ซึ่งมีธุรกิจค้าฝิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง การสมรสกับเจ้าหญิงชาวไทย กรณีฆาตกรรมเจ้าฟ้ากองไท และกรณีสุดท้ายที่เข้ากับฝ่ายไทย) ต่อมาเมื่อกองทัพไทยถอยออกมาจากเชียงตุงแล้วเจ้าพรหมลือและครอบครัวจึงได้อพยพเข้ามาเมืองไทย ได้รับการอำนวยความสะดวกจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของไทยจนสนิทสนมชอบพอกัน ก็คือ ครอบครัวของจอมพลผิน ชุนหะวัณ และเมื่อมาอยู่ที่เชียงใหม่แล้วก็ ได้ใช้นามสกุลว่า "ณ เชียงตุง" สืบมา
ข้อมูลจาก: http://www.lannaworld.com/cgi/lannaboard/reply_topic.php?id=15149
วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
Post-Election Remarks from Obama and McCain
picture credits: http://www.edsmart.com/stamps/images/whitehouse.jpg
.
After spending 2-3 hours to read two post-election remarks given by the President-Elect Barack Obama and Sen.John McCain on November 04, 2008 as a strong recomendation from Assoc. Prof. Phiphat Thaiarry. I think that I should ask all of you to consider the substance and messsage from those two men of the year too.
.
Obama's Remarks from http://www.barackobama.com/2008/11/04/remarks_of_presidentelect_bara.php
.
McCain's Remarks from http://www.johnmccain.com/splash110408.htm
.
.