.
...ความที่คัดมาข้างต้นนี้ เป็นถ้อยคำตัดพ้อต่อว่าเจ้าเมืองที่เสวยอำนาจแล้วลืมคุณผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนในตำนานการเกิดขึ้นของเมืองเชียงตุงก่อนจะมีคำว่าเชียงตุงให้ใช้...เรื่องนั้นมีอยู่ว่า...
...เดิมทีนั้นเชียงตุงมิได้ใช้ชื่อนี้มาแต่แรก "ประจันตคาม" หรือ "จัณฑคาม" คือชื่อเดิมของดินแดนแห่งนี้ ตั้งแต่สมัยที่สัตว์กับคนนั้นยังสามารถคุยกันรู้เรื่อง มีผู้คนมากมายอาศัยอยู่เป็นเมืองใหญ่ มีเจ้านายนั่งเมืองมายาวนาน จนกระทั่งสมัยหนึ่ง มีนายโคบาลหรือคนเลี้ยงวัวคนหนึ่งได้มีโอกาสเป็นเจ้าเมือง เนื่องจากเจ้าเมืององค์ก่อนนั้นสิ้นพระชนม์โดยที่ไม่มีผู้สืบราชสมบัติ เหตุที่ชายเลี้ยงวัวผู้นั้นได้เสวยราชสมบัตินั้นเป็นเพราะ เขาเคยเลี้ยงกาฝูงหนึ่งด้วยอาหารของเขาเองในระหว่างการเลี้ยงวัว เพราะสงสารที่กาฝูงนั้นไม่มีอาหารจะกิน...
.
...เมื่อกาฝูงนั้นรู้ข่าวว่าเจ้าเมืองจัณฑคามสิ้นพระชนม์ ก็คิดตอบแทนคุณข้าวคุณน้ำของชายเลี้ยงวัว จึงตกลงกันจะช่วยให้เขาได้เป็นเจ้าเมือง ดังนั้นแล้วจึงไปตกลงกับชายเลี้ยงวัวว่าฝูงกานี้จะช่วยให้เขาได้เป็นเจ้าเมือง แต่ขอให้มีข้อแลกเปลี่ยนว่า ทุกๆปี เขาจะต้องเสียควายหนึ่งตัวเป็นอาหารให้กับฝูงกา นายโคบาลนั้นก็รับปากด้วยดี ฝูงกาจึงออกอุบายให้ชายเลี้ยงวัวนั่งอยู่ในกรงไม้แล้วพากันคาบหอบกรงไม้นั้น บินเข้าไปในปราสาทของเจ้าเมืองในเวลากลางคืน รุ่งขึ้น บรรดาเสวกามาตย์ต่างพบว่านายโคบาลนั้นอยู่ในปราสาท จึงคิดว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการมาครองเมือง จึงพร้อมใจกันยกให้นายโคบาลนั้นเป็นเจ้าเมืองในเวลาต่อมา... .
.
...เวลาผ่านไปไม่นาน นายโคบาลนั้นก็ลืมสัจจะสัญญาที่ให้ไว้แก่ฝูงกา ฝูงกาจึงคิดเอานายโคบาลนั้นออกจากราชสมบัติ โดยทำอุบายว่าจะพานายโคบาลนั้นไปเป็นพระราชาในเมืองที่ใหญ่กว่า มีทรัพย์สมบัติมากกว่านี้ เมื่อนายโคบาลทราบดังนั้นก็ตัดสินใจว่าจะไปตามที่ฝูงกาเสนอด้วยความโลภ ที่สุดแล้วฝูงกาก็นำนายโคบาลนั้นไปปล่อยบนเกาะร้างแห่งหนึ่ง พร้อมสาปแช่งไว้ให้เมืองจัณฑคามนั้นล่มลงกลายเป็นหนองน้ำ แต่ภายหน้าจะกลับมารุ่งเรืองเป็นเมืองอีกครั้ง ใครก็ตามที่มาเป็นเจ้าเมือง หากลืมบุญคุณของมิตรสหาย เป็นผู้ไม่รักษาสัญญาแล้วก็ขอให้พบกับความวิบัติพลัดพรากอย่างที่นายโคบาลเป็นอยู่นี้ แล้วก็พากันบินจากไป หลังจากนั้นจึงเกิดฝนตกหนักถึง 7 วัน 7 คืน และน้ำนั้นได้ไหลท่วมเมืองจนหมดสิ้น ชาวเมืองที่รอดตายก็พากันอพยพไปอยู่ตามเทือกดอยต่างๆ และไม่มีใครได้กลับมาอีก คนเลี้ยงวัวนั้นก็ตรอมใจตาย แต่ดวงใจยังอาลัยในราชสมบัติเมืองจัณฑคามอยู่ ด้วยความหลงนั้นเองชักพาดวงวิญญาณให้เข้าไปเกิดเป็นพญาปูคำ (ปูเหลือง) เฝ้าเมืองที่ล่มสลายไปดังกล่าว
.
...ชะตากรรมของเมืองจัณฑคามนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ หรือคติในการควบคุมให้ผู้มีอำนาจนั้นต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมและจริยธรรมอย่างเข้มงวด หาไม่แล้ว ความพินาศล่มจมจะไม่เกิดขึ้นกับตนเองเท่านั้น หากยังทำให้คนหมู่มากพลอยได้รับผลกระทบนั้นตามไปด้วย ซึ่งความคิดทำนองนี้ก็ยังคงปรากฏเป็นจริงอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่ว่า บางคนเขาไม่รู้สึกรู้สมด้วยก็เท่านั้นเอง...
.
...ตามตำนานนั้นกล่าวว่า เมื่อถึงสมัยพระพุทธเจ้าของเรา พระองค์เสด็จเลียบโลกเพื่อโปรดสัตว์ในพื้นที่ต่างๆ เมื่อเสด็จมาถึงหนองน้ำใหญ่จัณฑคาม ได้ทรงมีพุทธฎีกาพยากรณ์ว่า หนองน้ำนี้ต่อไปจะกลับกลายเป็นเมืองอีกครั้งชื่อว่าเมืองนามจัน โดยมีฤๅษีตนหนึ่งมาไขน้ำออกจากหนองนี้ แล้วจะมีคนมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ต่อไป (เป็นเหตุว่าทำไม่รัฐบาลพม่าจึงสร้างพระพุทธรูปใหญ่ขึ้นบนดอยจอมสัก แล้วชี้พระหัตถ์มาทางหนองตุง คล้ายกับพระพุทธรูปยืนปางพุทธพยากรณ์ที่เขามัณฑะเลย์ ต่างกันแต่ว่า ที่เชียงตุงนี่ไม่มีรูปพระอานนท์...พระพุทธพยากรณ์นี้เป็นที่หมายแรกๆ ในการเดินทางรอบเมือง ซึ่งจะเล่าเสริมในภายหลังครับ)
.
...พระพุทธพยากรณ์บนดอยจอมสัก...
...จากนั้นอีกนาน จึงมีฤๅษีตนหนึ่ง เคยเป็นราชบุตรพระเจ้ากรุงจีน หรือเจ้าฟ้าเมืองว้องในตำนานเชียงตุง ชื่อว่าตุงครสี หรือตุงคฤๅษี (คำว่า"รสี" ก็คือพระฤๅษีนั่นเอง) ใช้ไม้เท้าขุดทางไขน้ำออกจากหนอง ชาวฮ่อแข่ยูนนานที่ติดตามฤๅษีมาก็ต่างสร้างชุมชนขึ้นเป็นเมืองอีกครั้งหนึ่ง เวลาผ่านไปอีกเล็กน้อย ซึ่งไม่ทราบว่านานเท่าไร ชาวฮ่อแข่ยูนนานเหล่านั้นก็ทิ้งเมืองไปอีกเนื่องจากโรคระบาด ทิ้งน้ำเต้าที่ปลูกไว้ในเขตบ้านเรือนตนให้เติบโตขึ้น จนกระทั่งผลน้ำเต้านั้นแก่และแตกออกกลายเป็นผู้คนอาศัยอยู่ในเมืองนามจันนั้นสืบมา แต่คนมักเรียกชื่อเมืองนั้นว่า "เชียงตุง" ตามชื่อตุงครสีผู้นำการสร้างเมืองมากกว่า...
.
...ตามตำนานข้อนี้ น่าเชื่อว่า คนไทขึน/เขิน ที่อาศัยอยู่ในเชียงตุงนั้นเชื่อว่ากำเนิดของคนนั้นมาจากผลน้ำเต้า และข้อเท็จจริงของการเกิดชุมชนในพื้นที่ที่เรียกว่าเชียงตุงนั้น น่าจะเกิดจากการอพยพมาของคนจีนในยูนนานผสมกับคนพื้นเมืองในแถบนั้น ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นพื้นที่ของคนพื้นเมืองไปโดยปริยาย...