วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

...เราควรจะหงุดหงิดหรือไม่?...

ระยะหลายวันมานี้มีเรื่องรบกวนจิตใจนิดหน่อย...ถึงมากๆ

ซึ่งนั่นก็คือ เราควรจะหงุดหงิดหรือไม่? กับความตายของมนุษย์จำนวนหนึ่งซึ่งรัฐบาลไม่สามารถหาคำตอบได้ ว่าเป็นฝีมือของใคร และ "รัฐ" ในฐานะที่ต้องสร้างหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จะแสดงความรับผิดชอบกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร หลายวันมานี้การลงไม้ลงมือกันเพียงเพราะ "คนละสี" จนเลือดตกยางออก บ้างก็ถึงขั้นเสียชีวิต โดยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่สามารถทำอะไรเพื่อให้ความกระจ่างในข้อสงสัยของคนที่ "ไม่เหลือง ไม่แดง" เกี่ยวกับการบาดเจ็บล้มตายเหล่านั้น

เป็นไปได้ไหมว่าเราควรหงุดหงิดกับรัฐบาล?...อันเนื่องมาจากการบุกยึดสถานที่ราชการ ท่าอากาศยานนานาชาติและอื่นๆ โดยกลุ่มชนที่มีอารมรณ์คุกรุ่นเพื่อต้องการความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยที่รัฐบาลไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าการถอย (เพราะไม่สามารถใช้ไม้แข็งแบบวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมาได้อีก เพราะต้นทุนสูงเหลือเกิน...) ทั้งที่ผู้นำรัฐบาลสามารถเปิดอกคุยกับแกนนำผู้ชุมนุมได้ แต่ก็เลือกที่จะไม่ทำตั้งแต่ต้น จนกระทั่งเรื่องราวมันเลยเถิดไปขนาดนี้...

หรือเราควรจะหงุดหงิดกับผู้ชุมนุมดี?...เหมือนกับอารมณ์ของ SMS ตามหน้าจอโทรทัศน์นับตั้งแต่วันก่อน...รวมทั้งพลังแดง พลังขาว พลังเขียว พลังส้ม และพลังสีอื่นๆ ในสังคมนี้ หรือแนวร่วมสีเหลืองเองที่เคยหงุดหงิดกับแนวร่วมสีแดงในเชียงรายที่ปิดทางเข้าออกท่าอากาศยานเชียงรายเมื่อสองสามเดือนก่อน ตอนนั้นก็มีคนไม่น้อยหัวเสียกับการกระทำของแนวร่วมสีแดง ซึ่งมาวันนี้ฝ่ายเหลืองเอาบ้าง คนที่เคยเชียร์สีเหลืองก็เปลี่ยนใจไม่เชียร์เสียแล้ว เหมือนเพื่อนร่วมก๊วนข้าวเที่ยงกล่าวขึ้นมาลอยๆ เมื่อวานนี้ว่า "...เราเลิกเชียร์แล้วล่ะ มันเกินไป..."
ล่าสุดเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมา เพื่อนร่วมงานที่นั่งโต๊ะไม่ห่างกันเท่าไรนักส่งเสียงเตือนขณะที่ผมกำลังเปิดวิทยุเพื่อฟังความเคลื่อนไหวของการชุมนุมว่า ..."...ช่วยเบาเสียงวิทยุลงนิดนึงได้ไหม? ไม่อยากได้ยินเสียงการชุมนุม เพราะพวกนี้ดูหมิ่นสถาบัน ฯลฯ..." ซึ่งผมเองก็พยายามไม่ให้มันดังอยู่แล้ว แต่กลายเป็นว่าเสียงข่าวที่แว่วออกไปนั้น แม้เพียงน้อยนิดก็เป็นเหมือนมลพิษที่มีมวลมหาศาลทีเดียว อารมณ์ของคนในสังคมเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่บอกว่า "...อย่ามาเหมานะ...ชั้นไม่ใช่แดง...และก็ไม่ใช่เหลืองด้วย..." คือคนทั่วๆ ไปที่ต้องการเห็นการเมืองที่สงบสมานฉันท์ ทุกคนสามัคคี ฯลฯ (ซึ่งการเมืองที่ไหนๆ ในโลกไม่เคยอยู่ในภาวะที่ว่านั้นเลย) แกว่งไปหาความไม่พึงพอใจที่มีต่อกลุ่มผู้ชุมนุม และดูเหมือนว่าจะค้างอยู่ที่นั้นจนไม่แกว่งไปที่ไหนอีก
...เราควรจะหงุดหงิดกับสถาบันทหาร...กระนั้นฤๅ?...เหมือนกับที่กลุ่มผู้ชุมนุมกำลังหงุดหงิดกับท่าทีที่ไม่ซ้ายไม่ขวา ท่องคาถาอยู่กับที่ ว่า..."ไม่ปฏิวัติ ...ไม่ยึดอำนาจ...ไม่เคลื่อนไหว"...ของผู้นำเหล่าทัพ ซึ่งอันที่จริงก็น่าเห็นใจท่านๆ เหล่านั้น เนื่องจากต้นทุนและเดิมพันของทหารนั้นสูงมาก มากเสียจนทำให้ท่านเหล่านั้นไม่อาจเสี่ยงปฏิบัติการเหมือนที่สถาบันนี้เคยทำมาก่อน ไหนจะนักการเมือง ไหนจะมวลชน ไหนจะชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศ คิดแล้วได้ไม่คุ้มเสีย และไม่อาจวางใจในคู่กรณีในความขัดแย้งครั้งนี้ได้ทั้งคู่ การตั้งรับในที่มั่นอาจดูเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในยามนี้

...หงุดหงิดกับคุณทักษิณและพลพรรคของเขาดีไหม?...หลายคนในโลกใบนี้พยายามชี้ประเด็นว่าคุณทักษิณ รวมทั้งเครือญาติ เครือข่าย ลูกน้อง ลูกพรรค ฯลฯ ของเขานั้นเป็นต้นเหตุแห่งความวุ่นวายในวันนี้ ตั้งแต่ทุจริตเชิงนโยบาย ใช้ช่องว่างของกฎหมายเพื่อประโยชน์ทับซ้อน ทำลายกลไกถ่วงดุลและตรวจสอบทั้งทางสภาและองค์กรอิสระ หลบเลี่ยงการบังคับทางกฎหมาย ว่าการหลังม่านผ่านนอมินี และแฟมิลี่ เรื่อยไปจนกระทั่งข้อหาทรราชย์และมุ่งร้ายต่อสถาบัน ...แต่อย่าลืมว่า ผู้คนส่วนมากมักสนใจแต่เรื่องเฉพาะหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเฉพาะหน้าที่มีการเผยแพร่ผ่านทางสื่อสารมวลชนแบบ real time แล้วตัดตอนของความสนใจระยะสั้นๆ ความสนใจที่มีต่อสิ่งที่คุณทักษิณและพรรคพวกของเขากระทำสะสมเอาไว้ในอดีตจึงมีไม่มากนัก

...แล้วหงุดหงิดกับสื่อล่ะ?...สื่อจำนวนมากพยายามช่วงทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโทรทัศน์ ที่ต้องการนำเสนอภาพสดๆ ของเหตุการณ์ แล้วคนบ้านเราสมัยนี้ก็ชอบที่จะดูโทรทัศน์เพื่อติดตามสถานการณ์ อารมณ์ของผู้ชมก็ผันแปรไปตามภาพข่าวที่ออกสื่อมาให้เห็น อย่าลืมว่าเวลาในจอแก้วนั้นมีราคาแพงกว่าเวลาในนาฬิกาของเราๆ ท่านๆ อักโข การตัดภาพข่าวออกมาจึงต้องเน้นภาพที่มี "พลังสะเทือน" หรือ IMPACT สูง ซึ่งหารายงานพิเศษประเภท "เคียงข่าว" (ซึ่งหมายถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่รายงานเข้ามาตามลำดับเหตุการณ์) ได้น้อยเหลือเกิน นอกจากนี้ รายการบันเทิงต่างๆ ยังคงมีให้เลือกบริโภคมากกว่ารายการเชิงสาระ มิพักต้องพูดถึงวิทยุ ทั้งชุมชน และไม่ชุมชน และหนังสือพิมพ์ต่างๆ ซึ่งมีฝักฝ่ายและเลือกข้างชัดเจน ทั้งนี้ให้ผู้เสพสื่อเลือกบริโภคกันตามความสนใจและข้อจำกัดของแต่ละคน

...หรือเรา...ควรจะหงุดหงิดกับตัวเอง...
...หงุดหงิดที่เสพข่าวสารมากเกินไป...
...หงุดหงิดที่ไม่ดูข่าวสารให้รอบด้าน...
...หงุดหงิดที่เสพข่าวสารไม่เป็น...
...หงุดหงิดที่ไม่เลือกข้าง...
...หงุดหงิดเพราะใครสักคนรอบตัวเราเลือกข้าง...ที่เราไม่ชอบ...
...หรือหงุดหงิดที่ปล่อยให้ "คนน่าละอายหลายจำพวก" (หากอยากรู้ว่าพวกนี้เป็นใคร โปรดอ่านเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับล่าสุด) เดินเข้าสภามาชูคอกันสลอนจนได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่ากฎหมายก็มีอยู่ คนปฏิบัติตามกฎหมายก็มีอยู่ การศึกษาของคนเราก็ไม่ใช่น้อย คนมีข้อมูลก็มีอยู่มากมาย ฯลฯ
...หากจะหายหงุดหงิด ก็คงต้องหาเหตุแห่งความหงุดหงิดนั้นให้ได้เสียก่อนกระมัง....

วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

จับเรื่องเล่าเอามาเรียง...จากเชียงตุง (๒)

ทัศนียภาพรายทางที่เก็บมาได้ระหว่างอยู่บนรถ จนใจว่าไม่สามารถบอกให้คนขับหยุดได้ เกรงใจสมาชิกผู้ร่วมทาง เลยต้องยื่นมือออกไปเก็บภาพแทน ภาพจึงดูเบลอๆ อยู่บ้าง



เราออกจากด่านแล้วแวะรับน้ำดื่มและขนมสำหรับดื่มและกินระหว่างทางที่ร้านโชห่วยแห่งหนึ่งในตลาดท่าล้อ ที่ซึ่งชาวเรามักข้ามฝั่งไปซื้อหาสินค้านานาชนิดอยู่บ่อยครั้ง ก่อนนั่งรถไปตามถนนที่ผ่านการใช้งานอย่างสมบุกสมบันมายาวนาน ออกจากตัวเมืองท่าขี้เหล็ก ซึ่งพี่หลุยบอกกับเราว่า เพิ่งยกฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของรัฐฉานตะวันออกได้ไม่นานมานี้ เพราะเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งมีเงินหมุนเวียนอยู่มาก ชาวคณะเราต่างส่งสายตาออกไปภายนอก เพราะไม่ใคร่จะมีใครได้ออกมาไกลกว่าตลาดท่าล้อ ก็พากันตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่เห็นภายนอก ทั้งตลาด ผู้คน อาคารบ้านเรือน วัดวาอาราม ท่ารถ และสนามบิน ซึ่งใช้สำหรับเดินทางภายในประเทศทั้งสิ้น
.
มองๆ ดูแล้ว บ้านเมืองตามรายทางนั้นก็คล้ายๆ กับอำเภอรอบนอกของเชียงรายนี่เอง มีถนนหลักขนาดความกว้างสองช่องจราจร ซึ่งนานๆ ครั้งจะมีรถขับสวนมา พ้นจากตลาดท่าล้อแล้วก็ไม่มีตึกสูงเลย อย่างดีก็เป็นบ้านสองถึงสามชั้น บางหลังเป็นตึกครึ่งไม้ บางหลังเป็นบ้านตึกอย่างดีสีสันสดใส เราเริ่มสัมผัสได้ถึงบรรยากาศ วิถีชีวิตแบบเรียบง่ายของชาวบ้านร้านถิ่น เสียงของพี่หลุยแว่วมาว่า เวลาในประเทศพม่าจะช้ากว่าเมืองไทยราวสามสิบนาที แต่เราไม่จำเป็นต้องปรับนาฬิกาตาม เพราะเราจะนัดหมายกันเป็นเวลาประเทศไทย.....ทำให้ตัวผมเองเริ่มรู้สึกว่า นาฬิกาของเรากับนาฬิกาของคนที่นั่นเดินไม่เหมือนกัน
.
นาฬิกาของเรานั้นเดินเป็นวงกลม ที่หมุนเร็ว และเดินซ้ำไปซ้ำมาบนรอยเดิม เริ่มต้นแต่ละวันด้วยความรีบเร่ง และไม่ได้ใส่ใจรายละเอียดในการดำเนินชีวิตมากนัก สักแต่ว่าทำกิจวัตรประจำวันให้เสร็จๆ ไป ระหว่างวันก็วุ่นวนอยู่กับกิจการงานในหน้าที่บ้าง เสียเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องบ้าง จบวันหนึ่งๆ ไปด้วยความรู้สึกกึ่งล้ากึ่งขี้เกียจ แล้ววันรุ่งขึ้นก็กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีก

.

ส่วนนาฬิกาของคนที่นั่น ก็อาจจะเป็นวงเหมือนกัน แต่คงจะมีขนาดใหญ่กว่ามาก ค่อยๆ เดินอย่างระมัดระวัง และมีเวลาใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และความรื่นรมย์ในชีวิต ซึ่งคนที่หมกมุ่นอยู่กับความสับสนวุ่นวายในสังคมเมืองอาจมองไม่เห็น

................................................................

ตอบคำถามนะครับ

.

การเดินทางไปเยี่ยมเมืองเชียงตุงนั้น ถ้าเราเป็นนักศึกษาประวัติศาสตร์ หรือผู้สนใจสถาปัตยกรรม ศิลปะ และเรื่องของวิถีชีวิตควรจะมีเวลาอยู่ที่นั่นสักสัปดาห์หนึ่ง จะได้อะไรกลับมาอีกเยอะ แต่ถ้าเราไม่ได้ดื่มด่ำกับมันมากนัก หรือเป็นนักท่องเที่ยวแบบทัวร์ชะโงก ก็ซื้อบริการจากบริษัทนำเที่ยวไปเลยครับ รายการนำเที่ยวตามที่ตกลงกันปัจจุบันเท่าที่ทราบจะอยู่ที่ สองคืนสามวันที่โรงแรมชั้นหนึ่งของที่นั่น+ ค่าเดินทาง+อาหารอย่างดี+มัคคุเทศก์ ประมาณ 6,000 บาทต่อคนครับ (ยังไม่รวมทิปให้มัคคุเทศก์ครับ คราวที่ผมไปนี้ เขาบริการดีจนเราเกรงใจเลย...) ถ้าจะเพิ่มเวลาก็ต้องตกลงกับบริษัทเอง เพราะตามกฎหมายแล้ว เราสามารถอยู่ชื่นชมกับความสวยงามที่นั่นได้ถึง 14 วันโดยไม่ต้องทำวีซ่าครับ

.

หรือถ้าจะไปแบบแบ็กแพ็ค ก็ต้องหาทางจองโรงแรมเอง ค่าที่พักนี้ไม่ทราบว่าเท่าไรนะครับ แล้วขึ้นรถจากท่าขี้เหล็กเข้าเชียงตุง หากเป็นรถโดยสาร (ต้องนั่งรถรับจ้างจากหน้าด่านไปท่ารถประมาณ 3 กม.) ค่าโดยสารจะอยู่ในราว 350 บาทต่อคน (ไม่ทราบราคาตั๋วไปกลับนะครับ) และอาจต้องเพิ่มค่ารถรับจ้างอีกนิดหน่อย หากเหมารถขาวมาก็อาจจะอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้ต้องต่อรองราคาเองครับ การดำเนินการเกี่ยวกับพิธีการผ่านแดนคงต้องคุยกับคนที่เขามีประสบการณ์ตรงจะดีกว่าครับ อาหารการกินที่นั่นหายห่วงครับ หากินได้ทั้งวันในราคาที่เรารับได้ เลือกเอาที่เขาทำใหม่ๆ ร้อนๆ นั่นละครับกีที่สุด ข้อแนะนำสำคัญคือ พยายามแลกธนบัตรใบละ 20 บาท และเหรียญย่อยๆ ติดกระเป๋าไว้หน่อยก็ดีครับ ซื้อหาสินค้าเล็กๆ น้อยๆ ได้สะดวก แต่ถ้าต้องการซื้อของที่มีราคาค่างวดสูง พกใบใหญ่ๆ ไว้ก็ไม่มีปัญหาครับ พ่อค้าแม่ขายที่นั่นพอจะฟังภาษาไทยรู้เรื่องเพราะที่นั่นเขาดูโทรทัศน์บ้านเราด้วยครับ

.

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

จับเรื่องเล่าเอามาเรียง...จากเชียงตุง (๑)

หอหลวงเจ้าฟ้าเชียงตุง "ครั้งบ้านเมืองยังดี" (ฉายเมื่อปี ค.ศ.1955)

ระหว่างวันที่ 23 – 25 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เดินทาง ไปทัศนศึกษา (ว่ากันตามภาษาเราๆ ก็คือไปเที่ยวนั่นเอง) ที่เมืองเชียงตุง รัฐฉานตะวันออก ของสหภาพเมียนมาร์ ก่อนอื่นขอกราบงามๆ ขอบพระคุณสปอนเซอร์เป็นอย่างสูงที่ทำให้ชาวคณะเราได้มีโอกาสอันดีนี้
.
รถออกจากเชียงรายราวเจ็ดโมงครึ่ง แวะรับกันมาเรื่อยๆ กระทั่งถึงอำเภอแม่สายราวแปดโมงครึ่ง กินมื้อเช้ากันท้องกิ่ว จนได้ฤกษ์ (สะดวก) ออกเดินทาง ซึ่งเราต้องแวะทำเรื่องผ่านแดนให้เรียบร้อย ได้ทราบมาว่า ระวางนี้ พวกเราจะต้องยอมให้เจ้าหน้าที่ (ทางนั้น) เก็บบัตรประจำตัวประชาชนไว้ตลอดการเดินทาง สิ่งที่เราได้กลับมาคือใบผ่านแดน จำนวนเท่ากับบัตรประชาชนที่พวกเรายื่นให้เจ้าหน้าที่ไป ซึ่งผู้นำทางของเราจะเป็นผู้ถือเอกสารทั้งนั้น เพื่อดำเนินการทางด้านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง

. ผู้นำทางของเรานั้นคือหนุ่มใหญ่เสื้อสีฟ้าในรูป เป็นลูกหลานชาวเชียงตุงแท้ (...ก็เขาว่าอย่างนั้น) อารมณ์ขันดีทีเดียว เขาชื่อว่าพี่หลุยครับ อายุราวกลางคน บ้านอยู่แถวๆ ท่าขี้เหล็ก เพราะใกล้ออฟฟิศการท่องเที่ยวของเมียนมาร์ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของเขา (...ต่อไปจะเรียกว่าพม่าแล้ว เพราะเคยปาก) จะเป็นผู้รับผิดชอบการกินการอยู่ของเราตลอดการเดินทางในเชียงตุง
.
พี่หลุยแจ้งเราว่า จะต้องเดินทางจากด่านแม่สายไปอีกราวสามชั่วโมง ถ้าไม่มีปัญหาอะไร เราคงถึงเชียงตุงในราวเที่ยงวัน และจะแวะกินมื้อเที่ยงกันก่อน ค่อยเข้าที่พัก ซึ่งเป็นโรงแรมรัฐบาลที่สร้างบนรากฐานของหอหลวงเจ้าฟ้าเชียงตุงเดิม ทำให้ชาวคณะเราบางท่านที่ออกจะขวัญอ่อนเริ่มแซวกันเองบ้างแล้วเกี่ยวกับคืนแรกในเชียงตุง...
.
ก่อนออกจากด่าน ใครสักคนได้เตือนให้สาวๆ ชาวคณะเราหาหมวกติดตัวไว้เพื่อสะดวกต่อการบังแดดบังฝน เพราะเมื่อถึงที่นั่น การหุบร่มกางร่มบ่อยๆ ออกจะเป็นเรื่องวุ่นวาย ประเดี๋ยวฝนตก ประเดี๋ยวฝนหยุด ประเดี๋ยวแดดจ้า ประเดี๋ยวฟ้าบด สวมหมวกเสียก็สิ้นเรื่อง สาวๆ ก็เลยกรูกันลงไปหาซื้อหมวกกันแล้วกลับมาขึ้นรถ ขณะที่นั่งรถผ่านด่านนั้น เราทุกคนต้องเปิดกระจกให้เจ้าหน้าที่ได้เห็นผู้โดยสาร ว่ามีใครอยู่บ้าง เสียงของเราเริ่มเงียบลงตามลำดับ เมื่อชีวิตของเราไม่ได้เป็นของเราโดยแท้ ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การกระทำของเรานั้นย่อมอยู่ใต้การกำกับ (...แม้กระทั่ง “ใต้บงการ”) ของรัฐ และอื่นๆ ทั้งสิ้น การนั่งรถเพื่อผ่านด่านก็นับว่าอยู่ในเกณฑ์นี้ด้วย

.
อาจจะฟังดูเกินจริงหากจะบอกว่า เวลานั่งรถผ่านด่านนั้นมันช่างยาวนานและน่าตื่นเต้นราวกับว่าเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ ทั้งๆที่ เมื่อช่วงมิลเลเนียมที่ผ่านมานั้น ผมก็นอนซุกผ้าห่มอยู่ที่บ้านดูโทรทัศน์ไปอย่างเรื่อยๆ เฉื่อยๆ หรือด่านที่เรากำลังผ่านนี้เอง ผมก็เดินผ่านมาเป็นสิบครั้งแล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกแบบนี้...เห็นจะเป็นเพราะคำว่า “เชียงตุง” แน่แท้

.
ไม่ได้คิดว่าจะพูดให้ดูเป็นนิยาย หรืออะไรเลย แต่ผมอดประหลาดใจกับความรู้สึกแปลกใหม่อย่างนั้นไม่ใคร่ได้ ที่ว่า “เห็นจะเป็นเพราะคำว่าเชียงตุง” นั้น มาได้คำตอบเอาทีหลังว่า เราได้ยินได้ฟังเรื่องเมืองนี้มาเยอะ แล้วก็คิดหาโอกาสที่จะได้ไปเยี่ยมไปเยือนสักครั้ง พอจะได้ไปถึงเข้าจริงๆ มันก็ตื่นเต้นเป็นธรรมดา

.
เรื่องราวของเชียงตุงที่เคยผ่านหูผ่านตานั้น มีทั้งเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ ตำนาน นิยาย สารคดี ละคร ฯลฯ ทำเอาเราคิดถึงเชียงตุงในหลากหลายรูปแบบ เรื่องหนึ่งที่ติดใจมากเป็นพิเศษก็คือเรื่องของปู่ ซึ่งเป็นเรื่องสั้นๆ ที่ท่านเคยเล่าไว้เมื่อนานมาแล้วว่า เมื่อครั้งจอมพลผิน ชุณหะวัน นำกองกำลังทหารไทยขึ้นไปเชียงตุงนั้น ปู่ก็เป็นส่วนเล็กๆ ในกองทัพนั้นด้วย ท่านยังเล่าถึงความประทับใจให้ฟังว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะที่อยู่ที่นั่น ทหารไทยได้พบกับเจ้าพรหมลือ เจ้าฟ้าเชียงตุงในยุคปลายองค์หนึ่ง
[1] ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับทางการไทย ปู่ยังจำได้ว่าเจ้าพรหมลือนั้นไม่ถือองค์เลย ทั้งยังทรงต้อนรับทุกคนด้วยอัธยาศัยใจคออันดีแม้ว่าท่านจะทรงเป็นเจ้านายใหญ่ยศ ปู่จึงประทับใจในจรรยาของท่านเป็นพิเศษ การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นรายการ หลานตามรอยปู่ในเชียงตุง ซึ่งก็บังเอิญว่าในชาวคณะเรานี้มีคุณพี่ท่านหนึ่งซึ่งมีคุณพ่อเป็นทหารผ่านศึกมาในกองกำลังเดียวกันกับปู่ด้วย แต่ก็ไม่ได้ถามไถ่อะไรกันมากนัก เนื่องจากผมมีข้อมูลไม่มากนัก เพราะได้ยินได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้เมื่อนานมาแล้ว และไม่สามารถกลับไปถามไถ่หรือเล่าอะไรให้ปู่ฟังได้อีก ค่าที่ปู่ของผมท่านไม่อยู่ให้ถามหรือพูดคุยกันเสียแล้ว...

...................................................
.
[1] เจ้าฟ้าพรหมลือนั้นตามประวัติว่าเป็นต้นสกุล ณ เชียงตุง สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองสาม (ตรงกับสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี) ซึ่งเป็นต้นวงศ์ แต่ว่าตามพงศาวดารฝ่ายเชียงตุงนั้นเขาก็ว่าสืบเชื้อมาจากพรญามังราย เจ้าเมืองสามมีราชบุตรชื่อ เจ้ากองไทย สารัมพยะ เป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงสืบมา เจ้าฟ้าองค์ต่อมาคือเจ้าดวงแสง (หรือเจ้ามหาขนาน)-เจ้ามหาพรหม และ เจ้าแสงตามลำดับ จนเมื่อประมาณรัชกาลที่ 5 ของเรานี้ เจ้าโชติกองไทขึ้นเป็นเจ้าฟ้า ต่อด้วยเจ้ามหาพยัคฆโชติ เมื่อสิ้นสมัยเจ้ามหาพยัคฆโชติแล้ว เจ้าก้อนแก้วอินแถลงราชบุตร เจ้าโชติกองไท ก็ได้เป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงต่อมา (เหตุการณ์ช่วงนี้ตรงกับช่วง รัชกาลที่5 ถึงรัชกาลที่ 7) มีพระมเหสี 6 องค์ และมีราชบุตร-ราชธิดารวมกัน ดังนี้

1. เจ้าแม่ปทุมา ราชธิดาเจ้าเมืองสิงห์ เป็นมหาเทวี(มเหสีเอก) มีราชธิดา 1 องค์ คือเจ้าหญิงทิพย์เกษร และราชบุตร 1 องค์ คือเจ้าพรหมลือ (ท่านผู้นี้คือต้นสกุล ณ เชียงตุง)
2.เจ้าแม่จามฟอง สามัญชนมีราชบุตร-ราชธิดารวม 6 องค์ คือเจ้ากองไท (ได้เป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ต่อมา); เจ้าอินทรา (ได้เป็นบุตรบุญธรรมเจ้าฟ้าเมืองสีป้อ); เจ้าปราบเมือง; เจ้าขุนศึก (องค์นี้ไม่แน่ใจว่าคือต้นสกุล "ขุนศึกเม็งราย" หรือเปล่า?); เจ้าหญิงบัวสวรรค์ และเจ้าหญิงฟองแก้ว
3. เจ้าแม่บัวทิพย์หลวง มี 5 องค์ ได้แก่ เจ้าหญิงแว่นแก้ว (เป็นมหาเทวีเจ้าฟ้าลอกจอก); เจ้าหญิงสุคันธา (สมรสกับเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่บุตรพ่อเจ้าแก้วนวรัฐ); เจ้าหญิงแว่นทิพย์(เป็นมหาเทวีเจ้าฟ้าแสนหวี แต่ภายหลังหย่าร้าง); เจ้าสิงห์ไชย และ เจ้าแก้วมาเมือง
4. เจ้าแม่นางแดงหลวง มี 2 องค์ ได้แก่ เจ้าสายเมือง และเจ้าหญิงจันทร์ฟอง (สมรสกับข้าราชการป่าไม้ชาวไทย)
5. เจ้าแม่บุญยวง มี 2 องค์ ได้แก่ เจ้าหญิงฟองนวล และเจ้าบุญวาทย์วงศา (คนละองค์กับพ่อเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตเมืองลำปาง - -ท่านผู้นี้มีบทบาทในการต้อนรับกองทัพไทยที่บุกเข้าเชียงตุงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพพายัพของไทย ซึ่งนำโดยหลวงเสรีเริงฤทธิ์(พลเอกจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ได้ใช้คุ้มของท่านผู้นี้เป็นกองบัญชาการ)
6.เจ้าแม่บัวทิพย์น้อย ได้แก่ เจ้าหญิงองค์หนึ่ง และเจ้าชายชื่อเจ้ายอดเมือง


เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง (กลาง) กับโอรส มีเจ้าฟ้ากองไต (ที่ 2 จากซ้าย แถวหลังสุด) และเจ้าฟ้าพรหมลือ (ที่ 4 จากซ้าย แถวหลังสุด) ร่วมฉายพร้อมกับโอรสองค์อื่นๆ

เจ้าฟ้าก้อนแก้วนั้นได้ส่งเจ้าพรหมลือ และเจ้ากองไท ไปศึกษาต่อในยุโรป แต่ทั้งสองไม่ทันเรียนจบก็ถูกเรียกตัวกลับเชียงตุง ทางเจ้าพรหมลือนั้นยอมกลับแต่โดยดี แต่เจ้ากองไทนั้นได้สมัครเป็นนายทหารในกองทัพอังกฤษแล้ว โดยส่งจดหมายชี้แจงต่อเจ้าพ่อว่า ตนเองไม่มีหวังที่จะก้าวหน้าในเชียงตุง เพราะไม่ได้เป็นราชบุตรเกิดแต่มหาเทวี ไม่มีสิทธิ์ได้เป็นเจ้าฟ้าต่อจากเจ้าพ่อ จึงขอแสวงหาความก้าวหน้าในกองทัพอังกฤษต่อไป เจ้าฟ้าก้อนแก้วจึงขอให้กลับมาก่อน หลังจากนั้นได้มีการตั้งตำแหน่งเจ้าในทางราชการของเชียงตุง ซึ่งเจ้าชั้นสูงของเชียงตุงนั้นมี 5 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าฟ้า(เจ้าผู้ครองนคร); เจ้าแกมเมือง(อุปราชรัชทายาท); เจ้าเมืองเหล็ก; เจ้าเมืองขาก และเจ้าเมืองขอน ในการนี้เจ้าพรหมลือได้เป็นเจ้าเมืองเหล็ก ขณะที่เจ้ากองไทได้เป็นเจ้าแกมเมือง หรือเจ้าแสนเมือง เพราะตามศักดินาได้กินนาแสน โดยการตั้งตำแหน่งเจ้าครั้งนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมเจ้าพรหมลือไม่ได้เป็นรัชทายาท แต่การสืบราชสมบัติเมืองเชียงตุงนี้ไม่มีเกณฑ์แน่นอน จึงอนุมานเอาว่าคงเป็นเพราะท่านคงเห็นว่าเจ้ากองไทมีศักดิ์เป็นพี่ของเจ้าพรหมลือ (แต่จริงๆแล้วเกิดก่อนกันไม่กี่วันเท่านั้น) จึงตั้งเป็นรัชทายาท ทางเจ้าพรหมลือก็หันไปทำธุรกิจหลายอย่างจนร่ำรวยกว่าบรรดาเจ้านายด้วยกัน และต่อมาได้สมรสกับเจ้าหญิงทิพวรรณ ณ ลำปาง นัดดาเจ้านครลำปาง

ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้าก้อนแก้วฯสิ้นพระชนม์ เจ้ากองไทจึงได้เป็นเจ้าฟ้าแทน แต่เป็นได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์เมื่อกลับจากงานเทศกาลวันออกพรรษา งานนี้สามารถจับตัวฆาตกรได้ และในเบื้องต้นได้ซัดทอดคนสนิทเจ้าพรมลือจนมีเสียงร่ำลือว่าเจ้าพรหมลือมีส่วนในการจ้างวานผู้อื่นลอบปลงพระชนม์เจ้าฟ้ากองไท เพราะต้องการแก้แค้นที่ถูกปล้นราชสมบัติไป ท่านผู้นี้จึงต้องจ้างวานทนายความจากพม่ามาเพื่อแก้ต่างในคดีนี้จนเสียเงินว่าจ้างเป็นจำนวนมาก แต่ก็พ้นข้อกล่าวหามาได้ และชาวเชียงตุงส่วนใหญ่ก็ไม่ปักใจเชื่อว่าเจ้าพรหมลือจะมีส่วนในคดีนี้ เพราะเห็นว่าทั้งสองนั้นรักใคร่สนิทสนมกันมาก ขณะที่ข้าหลวงอังกฤษยังคงเชื่อมั่นว่าเจ้าพรหมลือต้องมีส่วนในกรณีนี้ (สนใจค้นคว้าต่อในเรื่อง "The Lords of Sunset" มีรายละเอียดเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมเจ้าฟ้าในมุมมองของชาวอังกฤษ) ในหนังสือที่เกี่ยวกับกองทัพไทยในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพานั้นกล่าวถึงเรื่องเจ้าพรหมลือว่าเมื่อกองทัพพายัพของไทยบุกเข้าเชียงตุงได้ ตามนโยบายสหรัฐไทยเดิม ก็มีการแต่งตั้งจากทางกรุงเทพฯให้เจ้าพรหมลือเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุง และให้เจ้าฟ้าพรหมลือและเจ้าบุญวาทย์วงศาเป็นที่ปรึกษาของข้าหลวงทหารฝ่ายไทย ทางอังกฤษก็เห็นว่าเจ้าพรหมลือมีใจฝักใฝ่ฝ่ายไทย จึงยิ่งทวีความไม่ชอบเข้าไปอีก (อาจมีชนวนมานานแล้ว ทั้งผลประโยชน์ในการค้า ซึ่งมีธุรกิจค้าฝิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง การสมรสกับเจ้าหญิงชาวไทย กรณีฆาตกรรมเจ้าฟ้ากองไท และกรณีสุดท้ายที่เข้ากับฝ่ายไทย) ต่อมาเมื่อกองทัพไทยถอยออกมาจากเชียงตุงแล้วเจ้าพรหมลือและครอบครัวจึงได้อพยพเข้ามาเมืองไทย ได้รับการอำนวยความสะดวกจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของไทยจนสนิทสนมชอบพอกัน ก็คือ ครอบครัวของจอมพลผิน ชุนหะวัณ และเมื่อมาอยู่ที่เชียงใหม่แล้วก็ ได้ใช้นามสกุลว่า "ณ เชียงตุง" สืบมา
ข้อมูลจาก: http://www.lannaworld.com/cgi/lannaboard/reply_topic.php?id=15149

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

Post-Election Remarks from Obama and McCain


picture credits: http://www.edsmart.com/stamps/images/whitehouse.jpg
.
After spending 2-3 hours to read two post-election remarks given by the President-Elect Barack Obama and Sen.John McCain on November 04, 2008 as a strong recomendation from Assoc. Prof. Phiphat Thaiarry. I think that I should ask all of you to consider the substance and messsage from those two men of the year too.
.
Obama's Remarks from http://www.barackobama.com/2008/11/04/remarks_of_presidentelect_bara.php
.
McCain's Remarks from http://www.johnmccain.com/splash110408.htm
.
.

วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

...ระวัง! มันกำลังจะมา...


เผลอตัวเผลอใจ...ไม่ทันไรก็มาอีกเทอมแล้ว...
.
เหมือนเวลาผ่านไปไม่นาน เด็กๆ ที่ผมเคยเจอเมื่อเทอมที่แล้ว ชักจะกลายเป็นคนแปลกหน้าขึ้นทุกที คือเราจะเริ่มจำหน้าได้บางคน ...แต่ดูเหมือนว่าก็จะเริ่มจำหน้าอีกหลายๆ คนไม่ใคร่ได้...
.
เหนือสิ่งอื่นใด ผมมองเห็นเขาเหล่านั้นเติบโตขึ้นกว่าเดิม...อย่างน้อยก็ในทางรูปลักษณ์ภายนอก...ส่วนภายในจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่อาจทราบได้ จนกว่าจะได้คุยกันเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เพื่อให้เห็นวิธีคิด วิธีมองโลกของเขาว่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากน้อยเพียงไร...ผมเชื่อโดยสุจริตใจว่า การทำงานกับคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวนั้นมันก็ดีอย่างหนึ่ง ตรงที่ เราได้อยู่กับคนที่ (ยังคง) มีพลังสร้างสรรค์ในชีวิตสูงกว่าวัยอื่นๆ เพราะ เมื่ออยู่ในวัยประถม-มัธยม นั้นเขาเหล่านั้นต้องตกอยู่ในกรอบที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น โดยไม่อาจต่อรองอะไรได้ นอกจากการทำตัวเป็นเด็กดี และไม่เป็นตัวปัญหาให้กับสังคมรอบข้าง...
.
แม้เมื่ออยู่ในวัยทำงานแล้วก็ตาม เขาเหล่านั้นก็อาจต้องตกอยู่ในกรอบอีกประเภทหนึ่งจนไม่สามารถ "ระเบิด" พลังที่มีอยู่ภายในออกมาใช้ได้เท่าที่ควร ไม่พ้นต้องทำตัวเป็น "เด็กดี" และ "ไม่เป็นตัวปัญหา" เหมือนเดิม...
.
ความน่าสนใจของ "วัยเกือบเป็นผู้ใหญ่" อย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยอยู่ตรงที่ จะเป็นเด็กก็ไม่ใช่ จะเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง ทั้งกรอบของเด็ก และกรอบแบบผู้ใหญ่นั้นไม่อาจเอามาจำกัดวงของการใช้ชีวิตของเขาเหล่านั้นได้ การปลดปล่อยพลังของคนในวัยนี้จึงน่าจะมีมากกว่าวัยก่อนหน้าและเวลาที่เขากำลังจะเดินไปถึง มีกิจกรรมจำนวนไม่น้อยที่ เด็กๆ ทำไม่ได้ และผู้ใหญ่ (ที่บ้างานและบ้าระเบียบ) ก็ไม่มีเวลาจะทำ แต่คนวัยเกือบเป็นผู้ใหญ่นั้นมีความคิด โอกาส และพละกำลังที่จะทำในสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมากกว่าคนสองกลุ่มแรก
.
แต่มันก็มีคำถามเกิดขึ้นในใจของผมข้อหนึ่งคือ...แล้วพวกเขาคิดจะทำอะไรกับความคิด โอกาส และพละกำลังเหล่านั้น ...ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งบอกว่า "เรา" ในฐานะผู้ใหญ่ ซึ่ง "มีประสบการณ์มากกว่า" จะต้องช่วยนำพา "เด็กๆ" เหล่านั้นไปสู่ทางที่เหมาะสม...ผู้ใหญ่บางคนก็บอกว่าให้เขาคิดเอาเองบ้างเถอะ อย่าไปตีกรอบกันให้มากเลย เด็กมันก็โตๆ กันแล้ว...และผู้ใหญ่อีกไม่น้อยก็บอกว่า ผู้ใหญ่ทำได้อย่างมากก็เป็นคู่คิด เป็นที่ปรึกษาให้ ส่วนเรื่องการตัดสินใจก็ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของหนุ่มๆ สาวๆ เขาตัดสินใจทำเอง
.
คำพูดต่างๆ เหล่านั้น ล้วนแต่มาจากผู้ใหญ่ที่ตกอยู่ในกรอบของการ "เป็นเด็กดี" และ การ "ไม่เป็นตัวปัญหา" เสียแล้ว ทั้งสิ้น (...ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น แต่อย่าถามให้เสียเวลาเลย ว่าเป็นผู้ใหญ่พวกไหน) ...กลายเป็นตลกที่ขมขื่น จะหัวร่อก็มิได้ จะร่ำไห้ก็มิออก...
.
คนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวเองนั่นแล ที่มีหน้าที่ต้องตอบคำถามนั้น แล้วเลือกเอา ว่าจะยอมให้คนที่อยู่ในกรอบ มาตีกรอบให้ตัวเองได้มากน้อยขนาดไหน เพราะไม่มีใครรู้ "สัดส่วนของความพอดี" ของตัวเรา ได้ดีเท่าตัวเราเอง...
.
มาถึงบรรทัดนี้ หลายคนอาจรู้สึกว่า "งานเข้า"...
.
...บอกแล้ว...ว่าให้ระวัง...มันกำลังจะมา!!
.
.